ข้าวตราฉัตร ผนึกความร่วมมือกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ผู้นำด้านแมททีเรียลส์ ไซแอนซ์ และบริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ใน เอสซีจีพี (SCGP) ผู้เชี่ยวชาญด้านแพคเกจจิ้ง ยกระดับมาตรฐานถุงข้าวสารเป็นข้าวถุงรักษ์โลก ด้วยนวัตกรรม INNATE™ และเทคนิคดาวน์ เกจจิ้ง ที่ทำให้ถุงบางลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รีไซเคิลได้ และถือเป็นแบรนด์แรกของไทยที่ได้นำนวัตกรรมระดับโลกมาใช้ในการผลิตถุงเพื่อรีไซเคิลแบบครบวงจร อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการลดพลาสติกและพลังงานในการผลิต พร้อมวางจำหน่ายข้าวถุงรักษ์โลกในไตรมาสแรกของปี 2564 และตั้งเป้ายกเลิกการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2568
นายฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจการค้าข้าวและอาหารในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจข้าวตราฉัตร กล่าวว่าภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะพัฒนาถุงข้าวรุ่นใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อวางจำหน่ายในไตรมาสแรกของปี 2564 ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเป็นแบรนด์แรกในไทย โดยผลิตถุงข้าวจากเม็ดพลาสติก INNATE™ คุณภาพสูงของ Dow ด้วยเทคนิค ดาวน์ เกจจิ้ง (Down Gauging-บางลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น) ตั้งเป้าหมายทำให้ถุงข้าวสารบางลงจากเดิม 110 ไมครอน เหลือ 90 ไมครอน แต่แข็งแรง ทนทานยิ่งขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยการประหยัดปริมาณพลาสติก และลดพลังงานในกระบวนการบรรจุด้วยการใช้อุณหภูมิที่ต่ำลงในการปิดปากถุงข้าว โดยในช่วงเริ่มต้นคาดว่าจะลดปริมาณการใช้พลาสติกได้กว่า 300 ตันต่อปี ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 600 ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่ากับปลูกต้นไม้กว่า 600 ไร่ และเป็นการส่งเสริมการรีไซเคิล เนื่องจากเป็นถุงฟิล์มหลายชั้นที่ผลิตจากพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดเดียวที่รีไซเคิลได้ง่าย
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า Dow รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำด้านข้าวสารบรรจุถุงอย่างข้าวตราฉัตร ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกันพัฒนาถุงข้าวที่รีไซเคิลได้ง่าย และยังมุ่งมั่นประหยัดทรัพยากรและลดโลกร้อนด้วยนวัตกรรม INNATE™ ซึ่งเป็นโซลูชันใหม่ของ Dow ที่ช่วยให้ถุงข้าวบางลงแต่มีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยลดการใช้พลาสติกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความร่วมมือนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ในการต้านโลกร้อน ด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการลดขยะพลาสติก และส่งเสริมวงจรรีไซเคิล
โดยข้าวตราฉัตรยังได้เข้าร่วมโครงการ “มือวิเศษ x วน โดย PPP Plastics” ร่วมรณรงค์ให้ผู้บริโภคนำถุงข้าวตราฉัตรมาบริจาคที่จุดดรอปพอยต์ของโครงการฯ กว่า 300 จุดทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง (เช็คจุดตั้ง “ถังวนถุง” ใกล้บ้านได้ที่ shorturl.at/wBGKV) หรือ รวบรวมส่งทางไปรณีย์มาที่ “โครงการ วน” บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210 โดยถุงข้าวตราฉัตรที่ประชาชนนำมามอบให้ “ถังวนถุง” จะมีมูลค่า กิโลกรัมละ 5 บาท เป็นเงินบริจาคให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อให้ถุงข้าวตราฉัตรเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม
“สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนมี 3 ปัจจัยหลัก คือ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของแบรนด์และผู้บริโภค โครงการความร่วมมือนี้มีครบทั้ง 3 ปัจจัยหลักอย่างลงตัว โดย Dow และ SCGP มีเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้ถุงข้าวสามารถรีไซเคิลได้ง่ายในโครงสร้างพื้นฐานที่เรามีอยู่แล้ว เสริมด้วยโครงการ มือวิเศษ x วน โดย PPP Plastics ด้วยความร่วมมือของข้าวตราฉัตรซึ่งเป็นแบรนด์อันดับ 1 ที่จำหน่ายข้าวบรรจุถุงไปยังผู้บริโภคหลายล้านครัวเรือนทั่วประเทศไทย เชื่อแน่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริโภคของข้าวตราฉัตร เราจะสามารถร่วมกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน” นายฉัตรชัยกล่าว
ด้านนายภราดร จุลชาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ในเอสซีจีพี (SCGP) กล่าวว่า เอสซีจีพีได้นำแนวทางของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในด้านการออกแบบสินค้าและบริการ เน้นการออกแบบและผลิตสินค้าให้เจ้าของสินค้า (Brand Owner) และผู้บริโภคได้รับความสะดวก ใช้งานง่าย ใช้ทรัพยากรน้อยแต่คงทนแข็งแรง สามารถนำมาใช้ซ้ำและนำกลับมารีไซเคิลได้ และในด้านกระบวนการ มีการปรับปรุงการผลิตและการดำเนินการให้เกิด Circular Economy ตลอดทั้ง Supply Chain เช่น การลดการใช้น้ำและพลังงานในกระบวนการผลิต ซึ่งเอสซีจีพีพร้อมที่จะขับเคลื่อน Circular Economy จากภายในองค์กรไปสู่สังคมภายนอก ผ่านลูกค้าและผู้บริโภค ให้ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าและขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ช่วยกันทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน