เกือบ 1​ ปี กองทุนน้ำมัน อุ้มราคาดีเซล และ LPG จน บัญชีติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.25 แสนล้าน

298
N4431
- Advertisment-

 เกือบ 1 ปีที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  พยุงราคาดีเซลและLPG จนฐานะการเงินล่าสุด (18 ก.ย. 2565)​ ติดลบทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กว่า 125,348 ล้านบาท สูงกว่าสถิติปี 2548 ที่เคยติดลบ 92,070 ล้านบาท   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ใช้เงินรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม(LPG) มาเกือบ 1 ปี นับตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2565 ซึ่งติดลบถึง 125,348 ล้านบาท มาจากการชดเชยราคาน้ำมัน ทำให้บัญชีน้ำมันติดลบรวม 83,002 ล้านบาท และชดเชยราคา LPG จนบัญชี LPG ติดลบ 42,346 ล้านบาท  และล่าสุดวันที่ 25 ก.ย. 2565 สถานะกองทุนฯ ติดลบลดลงเล็กน้อยเหลือ ลบ 125,216 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลง   

อย่างไรก็ตามสถานะกองทุนฯ ที่ติดลบสูงสุดถึง 125,348 ล้านบาทในครั้งนี้ สร้างสถิติการติดลบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่กองทุนฯ เคยติดลบสูงสุดเมื่อปี 2547-2548 ซึ่งขณะนั้นทำสถิติติดลบสูงสุดของประเทศไว้ที่ ลบ 92,070 ล้านบาท เพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

- Advertisment -

สำหรับการใช้เงินเพื่อดูแลราคาน้ำมันและLPG จนสถานะกองทุนฯ ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ เริ่มมาจากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ได้แก่ 1. ราคา LPG โลกขยับขึ้นจาก 300-400 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จนทะลุมาถึงกว่า 800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จนปัจจุบันลดลงเหลือ 600 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน 2.ปัญหาราคา น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ได้ขยับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ 3. สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นแต่กำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นไม่ทัน และ4. ปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ แตะ 114.95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อ 8 มี.ค. 2565  และเป็นราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันฯ ที่เคยมีเงินเป็นบวกเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ในเดือน ก.ค. 2564 เริ่มเข้าสู่สถานะติดลบเป็นครั้งแรกนับจากปี 2548 โดยเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 กองทุนฯติดลบ 1,633 ล้านบาท ซึ่งมาจากการชดเชยราคา LPG เป็นหลัก จนเมื่อเดือน ม.ค. 2565 กองทุนฯ เริ่มชดเชยราคาดีเซล ที่ 1.99 บาทต่อลิตร เพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และทำการชดเชยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงตัวเลขการชดเชยราคาสูงสุดที่ 14.01 บาทต่อลิตร เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565

ขณะที่กองทุนฯต้องชดเชยทั้งราคา LPG และราคาน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ส่งผลให้กองทุนฯติดลบแตะ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2565 โดยเวลานั้นติดลบถึง 102,586 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถพยุงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรได้ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ได้ประกาศขึ้นราคาดีเซล โดยกำหนดกรอบราคาไว้ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร และมาขยับกรอบเพิ่มขึ้นใหม่เป็นไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการปรับราคาดีเซลขึ้น 3 ครั้งทำให้ปัจจุบันราคาดีเซลเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดถึง 34.94 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคาน้ำมันโลกยังคงผันผวนต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาลดต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 91.81 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.09 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 77.90  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.84 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 85.23  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 0.92 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่งผลให้ กบน. เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 กลับมายกเลิกการชดเชยราคาดีเซลอีกครั้ง ซึ่งในปี 2565 นี้ กบน. เคยยกเลิกการชดเชยราคาดีเซลได้ 2-3 ครั้ง ในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกเริ่มลดลง แต่เมื่อราคาน้ำมันโลกผันผวนปรับขึ้นอีก กองทุนฯก็กลับไปชดเชยราคาอีก เพื่อไม่ให้ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลเกินกรอบที่กำหนดไว้ 35 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันและ LPG จะปรับสูงขึ้นตามฤดูกาล ดังนั้นกองทุนฯ อาจต้องแบกภาระชดเชยราคาเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งกระทรวงพลังงานเคยคาดการณ์ไว้ว่ากองทุนฯ จะติดลบถึง 150,000 ล้านบาทได้ หากไม่ปรับขึ้นราคาดีเซลและ LPG และกองทุนฯ อาจสะดุดถ้าเงินกู้ 20,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินยังไม่สามารถกู้ได้สำเร็จ

Advertisment