คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติควักเงินกองทุนฯ อีก 1.59 บาทต่อลิตร รวมกับเงินเรียกเก็บจากผู้ใช้ดีเซล 4.04 บาทต่อลิตร จ่ายชดเชยภาษีดีเซลวันแรก 20 ก.ค. 2566 และชดเชยค่าการตลาด ส่งผลเงินกองทุนฯ บัญชีน้ำมันกลับสู่ภาวะเงินไหลออกอีกครั้ง หลังจากเบรกการไหลออกของเงินได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น โดยเริ่มควักเงินกองทุนฯ 10.92 ล้านบาทต่อวัน พยุงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 31.94 บาทต่อลิตร ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกผันผวนปรับราคาสูงขึ้นอีกรอบ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เปิดประชุมพิจารณาการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปจ่ายชดเชยภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร เนื่องจากในวันที่ 20 ก.ค. 2566 เป็นวันแรกที่สิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร และทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักเงินเพื่อพยุงราคาดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 31.94 บาทต่อลิตร
โดย กบน.มีมติควักเงินกองทุนฯ ไปชดเชยภาษีดีเซลอีก 1.59 บาทต่อลิตร รวมกับเงินที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 4.04 บาทต่อลิตร ไปชดเชยภาษีดีเซล และชดเชยค่าการตลาดให้ผู้ค้าน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เงินกองทุนฯ ในบัญชีน้ำมันเริ่มกลับมาสู่ภาวะเงินไหลออกจากกองทุนฯ อีกครั้ง รวมไหลออกจากบัญชีน้ำมัน 10.92 ล้านบาทต่อวัน
ที่ผ่านมากองทุนฯ สามารถหยุดการไหลออกของเงินได้แล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 เนื่องจากไม่ต้องเข้าไปชดเชยทั้งราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ส่งผลให้ในเดือน มิ.ย. 2566 มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ ประมาณวันละ 300 กว่าล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซลแล้ว กองทุนฯ จึงต้องควักเงินจ่ายชดเชยภาษีดีเซลอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามแม้บัญชีน้ำมันจะมีเงินไหลออก 10.92 ล้านบาทต่อวัน แต่ยังมีเงินจากบัญชี LPG ที่ยังมีเงินไหลเข้า 23.53 ล้านบาทต่อวัน ทำให้ภาพรวมกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าได้ 12.62 ล้านบาทต่อวัน
สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 เนื่องจากราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง ภาครัฐต้องการลดภาระค่าครองชีพประชาชน จึงได้ทำการลดภาษีน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง รวมลดภาษีดีเซล 7 ครั้ง ครั้งละ 3-5 บาทต่อลิตร คิดเป็นเงินรวม 33 บาทต่อลิตร จนเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 จึงได้สิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซล ประกอบกับเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลได้อีกต่อไป
ขณะที่ล่าสุดสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานสถานะเงินกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 16 ก.ค. 2566 กองทุนฯ มีเงินสุทธิติดลบ 49,829 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 4,316 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,513 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 20 ก.ค. 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 79.33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 75.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 79.63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.17 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รายงานค่าการตลาด ณ วันที่ 20 ก.ค. 2566 โดยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 1.85 บาทต่อลิตร สำหรับค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร โดยภาพรวมค่าการตลาดตั้งแต่วันที่ 1-20 ก.ค. 2566 อยู่ที่ 2.41 บาทต่อลิตร