กลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส.อ.ท. ฝาก 4 ข้อเสนอให้รัฐบาลเดินหน้า OCA ไทย-กัมพูชา

148
- Advertisment-


ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฝาก 4 ข้อเสนอถึงรัฐบาล เดินหน้าเจรจาในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ของไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA ) โดยชี้ให้เห็นถึงความคุ้มค่าที่ทั้งสองประเทศจะได้รับจากการพัฒนาปิโตรเลียม ขึ้นมาใช้ประโยชน์ 

นายนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงข้อเสนอ 4 ข้อต่อรัฐบาลที่จะช่วยให้การเจรจาในเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ของไทยกับกัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA ) เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ ว่า ข้อเสนอที่ 1 ในการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค(Joint Technical Committee -JTC )ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทยจะต้องเลือกบุคคลที่จะมาเป็นประธานที่สาธารณชนให้การยอมรับ และไว้วางใจ ว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นที่ตั้ง  และ ข้อ 2 คณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวกับการเจรจาจะต้องมีความต่อเนื่อง ไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากในขั้นตอนการเจรจา เป็นเรื่องของการต่อรอง ที่เป็นเรื่องทางเทคนิค และทั้งสองฝ่ายจะไม่มีใครได้ตามต้องการทั้ง 100%   ข้อ 3 รัฐบาลจะต้องมีความกล้าหาญ ที่จะทำให้เรื่องของการเจรจา ไม่ถูกโยงกับการเมือง และ ข้อเสนอที่ 4 ทุกฝ่ายต้องมีความสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว คำนึงเรื่องของผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ของพรรคการเมือง พรรคใดพรรคหนึ่ง  

นายนิพัฒน์สิน มองว่า ข้อเสนอทั้ง 4 ข้ออาจจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นอุดมคติ นำไปปฏิบัติได้ยาก  แต่หากทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติก็เชื่อว่าจะนำไปปฏิบัติได้ เช่นเดียวกับกรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ที่ทั้งสองประเทศ ต่างได้ประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา  ในบทบาทของประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม  อยากจะเห็นนโยบายจากภาครัฐที่ให้การส่งเสริมบริษัทของคนไทยให้เข้าไปมีส่วนร่วมในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม  เช่นเดียวกับที่บริษัทของมาเลเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 

- Advertisment -

นายนิพัฒน์สิน กล่าวถึงประโยชน์ที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะได้รับหากการเจรจา OCA ได้ข้อยุติ ว่า  ภาครัฐของทั้งสองประเทศจะได้รับค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียม รวมถึงการจ้างงานและการลงทุนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งแตกต่างจากการนำเข้าLNG ที่ภาครัฐจะไม่ได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง โดยในโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ OCA ที่อยู่ในแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของฝั่งไทยทำให้มั่นใจว่า จะมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ อยู่มากพอสมควร   นอกจากนี้  การที่ฝั่งไทยมีการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แท่นผลิตและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเอาไว้พร้อมแล้ว แต่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่  หากมีก๊าซธรรมชาติจาก พื้นที่ OCA ส่งเข้าระบบก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง  ผู้บริโภค ก็จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกลง  ค่าไฟฟ้าก็จะถูกลงด้วยเมื่อเทียบกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่เป็น LNG 

“ ทางกลุ่มไม่อยากให้เรื่อง OCA ถูกโยงเข้าไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อประเทศ เพราะหากการเจรจายิ่งล่าช้า ประเทศก็จะยิ่งเสียโอกาสที่จะได้นำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ในจังหวะที่ยังมีมูลค่าสูงและยังมีความต้องการใช้  โดยเรื่อง OCA ไม่ควรจะแปลว่า Overlapping Claims Area แต่ควรจะแปลว่า เป็น พื้นที่แห่งโอกาสที่ทั้งไทยและกัมพูชา จะได้พัฒนาปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน” นายนิพัฒน์สิน   กล่าว

Advertisment