กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมปรับปรุงระบบป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล หรือ ECO Sticker สำหรับรถปิกอัพ รองรับการใช้น้ำมัน B20 คาดช่วยผลักดันยอดขายรถปิกอัพใช้ B20 ในประเทศ 300,000 คัน/ปี และดูดซับปาล์มดิบในระบบได้ 500,000 ตัน/ปี เตรียมออกประกาศกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มดิบที่โรงสกัดรับซื้อ หวังกระตุ้นให้เกิดการผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น มีผลบังคับใช้ 22 มิถุนายน 2562
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการ 2 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มดิบ ได้แก่ 1. มาตรการกำหนดมาตรฐานวัตถุดิบเพื่อเข้าโรงงาน โดยเตรียมออกประกาศกำหนดให้โรงงานรับซื้อวัตถุดิบที่มีน้ำมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 สำหรับโรงหีบแยก (รับปาล์มทั้งทลาย) และไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 สำหรับโรงหีบรวม (รับเฉพาะผล) ทำให้มีวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานป้อนเข้ากระบวนการผลิตโดยไม่สูญเสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมการผลิตจากความไม่สม่ำเสมอของคุณภาพวัตถุดิบมากนัก ขณะที่เกษตรกรได้ราคาตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ส่งขาย โดยประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ซึ่งระหว่างนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมจัดทำแนวทางปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว และสั่งการให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่กำกับ ติดตาม และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาผลปาล์มให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมให้เกิดการผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น
และ 2. มาตรการส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน B20 โดยได้ออกประกาศลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถปิกอัพประเภท 2 ประตู และ 4 ประตู ที่สามารถใช้น้ำมัน B20 ได้ เช่น รถปิกอัพที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่ำกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร ที่ใช้น้ำมัน B20 จะลดภาษีเหลือร้อยละ 2 จากร้อยละ 2.5 พร้อมปรับปรุงระบบป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (ECO Sticker) สำหรับรถปิกอัพที่ใช้น้ำมัน B20 เพื่อให้ผู้ผลิตนำไปชำระภาษีและเป็นการยืนยันกับผู้บริโภคว่ารถปิกอัพรุ่นดังกล่าวสามารถใช้น้ำมัน B20 ได้
ทั้งนี้ ได้เปิดให้ผู้ผลิตรถยนต์ยื่นขอ ECO Sticker ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2562 และปัจจุบันมี 2 ราย ได้แก่ โตโยต้าและอีซูซุ ได้รับการอนุมัติ ECO Sticker สำหรับรถปิกอัพที่ใช้น้ำมัน B20 แล้ว ประมาณ 120 รุ่น และหากคำนวณจากสัดส่วนตลาดของทั้งสองบริษัท (คิดเป็นร้อยละ 70 ของรถปิกอัพทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศ) คาดว่ารถปิกอัพ B20 จะมียอดขายในประเทศประมาณ 300,000 คัน/ปี และเมื่อใช้น้ำมัน B20 จะช่วยดูดซับปาล์มดิบในระบบได้ประมาณ 500,000 ตัน/ปี ก่อให้เกิดมูลค่าปาล์มน้ำมันประมาณ 1,200 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานอย่างใกล้ชิด พร้อมส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อให้รับซื้อวัตถุดิบในราคาที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวนี้ จะช่วยยกระดับและรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันได้ดีขึ้น