กระทรวงพลังงานเตรียมแผนจ้างนักศึกษาจบใหม่ ในปี 2564 หลายหมื่นอัตราโดยใช้งบประมาณทั้งในส่วน ปตท., กฟผ. ,และงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ก่อนหน้านี้ กลุ่ม ปตท. ออกมาประกาศแล้วว่าจะเตรียมจ้างแรงงานและนักศึกษาจบใหม่กว่า 25,000 อัตรา ระหว่างปี 2563 – 2564 ภายใต้โครงการ “Restart Thailand”เพื่อร่วมกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไทยและพัฒนาสังคม สนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยเป็นการจ้างแรงงานผ่านเครือข่ายกลุ่ม ปตท. เพื่อการขยายธุรกิจและโครงการก่อสร้างต่างๆ กว่า 22,000 อัตรา จากปัจจุบันที่มีการจ้างแรงงานผ่านผู้รับเหมาในโครงการก่อสร้างอยู่แล้ว 30,000 อัตรา การจัดจ้างนักศึกษาจบใหม่ ระดับ ปวช. ปวส. อาชีวศึกษา และปริญญาตรี ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกและมีภูมิลำเนาในพื้นที่ปฏิบัติงาน จำนวน 2,630 อัตรา ให้มีรายได้และโอกาสในการฝึกฝนทักษะอาชีพ ภายใต้สัญญาจ้างระยะเวลา 12 เดือน และการเปิดรับพนักงานเพิ่มเติมในตำแหน่งที่ว่างในช่วงปี 2563 – 2564 ประมาณ 1,000 อัตรา เพื่อผลักดันการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าตามเป้าหมาย
ล่าสุด นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2563 ว่า กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะจ้างนักศึกษาจบใหม่ ที่มีอยู่ประมาณปีละ 4.5แสนคน ได้ในจำนวนหนึ่ง โดยเป็นงานและงบประมาณ ของ ปตท. ที่มีการระบุจำนวนการจ้างงานมาแล้วประมาณ 2.5 หมื่นอัตรา ในส่วนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและจัดสรรงบประมาณอีกมากกว่า 1 หมื่นอัตรา และในส่วนที่จะเป็นการว่าจ้างผ่านโครงการที่ใช้งบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 ซึ่งเบื้องต้นจะมีระยะเวลาการว่าจ้าง 1 ปี แต่พยายามที่จะหาแนวทางให้มีการว่าจ้างอย่างต่อเนื่อง
โดยในเบื้องต้นจะใช้นักศึกษาจบใหม่ จังหวัดละ 10 คน รวม 760 คน ใช้เงินขั้นต่ำ 7.6 ล้านบาท มาช่วยเก็บข้อมูลด้านพลังงาน ให้กับ ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ(NEIC) ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นเพื่อ รองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทุกด้านของพลังงาน ตามกรอบที่กระทรวงพลังงานและพลังงานจังหวัดได้มอบหมายให้ คาดว่าจะเริ่มจ้างนักศึกษาได้ประมาณเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2563 และจะเริ่มต้นให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้ประมาณ ม.ค. 2564
ข้อมูลดังกล่าวจะสามารถใช้เพื่อการวิเคราะห์ประกอบการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนพีดีพี ระยะยาว 20 ปี และนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ในอนาคตประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านพลังงานได้ทั้งทางเว็บไซต์ของศูนย์ฯ และผ่านระบบแอพพลิเคชั่นทางมือถือได้ ประมาณปี 2565
สำหรับ Road Map ในการพัฒนาศูนย์ฯ แบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ปี 2564-2566 เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐด้านพลังงานให้เป็นรากฐานที่สำคัญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศเพื่อเชื่อมต่อระบบคลาวด์กลางภาครัฐ
ระยะที่ 2 ปี 2567-2569 เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายนอกกระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อมตามแนวทางของรัฐบาลในการมุ่งสู่แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และระยะที่ 3 ปี 2570-2579 เป็นการเชื่อมโยงคลังข้อมูลแห่งชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการให้บริการข้อมูลสารสนเทศเชิงพาณิชย์แก่ผู้ที่สนใจ เพื่อผลักดันให้ศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล