กระทรวงพลังงานผนึกเอกชน จัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week และ Electric Vehicle Asia 2023 ผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

548
- Advertisment-

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ร่วมกับกระทรวงพลังงานและสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นำทัพหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายพันธมิตรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมชั้นนำจากทั่วโลก จัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW) และ Electric Vehicle Asia 2023 (EVA) งานมหกรรมเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ครบครันที่สุดของภูมิภาค ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2566 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมผลักดันภาคอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน

โดยงาน ASEW ในปีนี้ได้ชูแนวคิด “Powering the Clean Energy Transition Toward Carbon Neutrality Goal” หรือ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะมีการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม แบบครบวงจร โดยจัดควบคู่กับงาน Electric Vehicle Asia 2023 (EVA) ที่จัดต่อเนื่องร่วมกันปีนี้เป็นปีที่ 8 แล้ว โดยเป็นเวทีสำคัญด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่รวบรวมผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องใน EV Eco System และ Value Chain ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ในงานแถลงข่าวเพื่อชี้แจงรายละเอียดของงานเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา นายวรนล จันทร์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านยุทธศาสตร์พลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีพันธกิจที่สำคัญในการส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan: NEP) ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงาน โดยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศ อาทิ มุ่งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดสำหรับการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าใหม่ไม่น้อยกว่า 50% ในปี ค.ศ. 2050 และส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มีสัดส่วน 30% ภายในปี 2030

- Advertisment -
นายวรนล จันทร์ศิริ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านยุทธศาสตร์พลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน

นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานยังมุ่งดำเนินการตามเป้าหมายย่อยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ เช่น รักษาสมดุลพลังงานผ่านการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ทั้งการผลิตจากแหล่งในประเทศและการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากการนำเข้า การใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมพลังงานสะอาด เช่น เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) และเทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS ( carbon capture, utilization & storage: การดักจับก๊าซ CO2 ด้วยวัสดุดูดซับ และนำก๊าซ CO2 ที่ดักจับได้ไปแปรรูปเป็นสารมูลค่าสูงในอุตสาหกรรม ตลอดจนนำก๊าซ CO2 ไปกักไว้อย่างถาวรโดยการอัดเข้าไปเก็บใต้ผืนพิภพ) โดยมีพื้นที่นำร่องคือในอ่าวไทย เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบ BCG (B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ  C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว) โดยในงาน ASEW กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะออกบูทจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชม และจะมีการสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจหลากหลายหัวข้อ

รศ.ดร. สาวิตรี การีเวทย์ ผู้แทนจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รศ.ดร. สาวิตรี การีเวทย์ ผู้แทนจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า สถาบันมีพันธสัญญาที่จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่มุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาด รวมถึงการ upskill และ reskill ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยในงาน ASEW ที่จะจัดขึ้นนี้ มหาวิทยาลัยฯ จะร่วมจัดสัมมนา the 19th Renewable Energy Asia International Conference “The Role of Private Sector in Carbon Neutrality Transition in ASEAN” ที่จะอภิปรายถึงบทบาทของภาคเอกชนที่จะช่วยผลักดันภูมิภาคอาเซียนไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง รวมถึงประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจ เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว และการพัฒนาตลาดการค้าคาร์บอน เป็นต้น

ดร. พิลาณี ไวถนอมสัตย์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร. พิลาณี ไวถนอมสัตย์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันดับ 1 ของประเทศ และเป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยล่าสุดได้จัดให้มีแคมเปญ KU Carbon Neutrality เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ โดยสำหรับงาน ASEW ในปีนี้ มหาวิทยาลัยฯ จะจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความรู้ โดยเฉพาะในประเด็น bio energy หรือ พลังงานชีวมวลที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เพื่อสนับสนุนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และการดำเนินการสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero  ของประเทศ

ผศ.ดร. อุเทน สุปัตติ อุปนายกฝ่ายวิชาการและผู้แทนนายกสมาคม สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)

ด้าน ผศ.ดร. อุเทน สุปัตติ อุปนายกฝ่ายวิชาการและผู้แทนนายกสมาคม สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน Electric Vehicle Asia 2023 ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว โดยในปีนี้สมาคมฯ จะจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มในการถ่ายทอดความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมกันนี้ จะจัดให้มีการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า iEVTech 2023 เพื่ออัปเดตทิศทาง แนวโน้ม โอกาส ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Eco System) เช่น แบตเตอรี่และการจัดการแบตเตอรี่หลังใช้แล้ว นอกจากนั้น จะมีการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนจะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคการเงินและภาคประกันภัยมาให้ความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้สนใจด้วย

ดร. พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA)

ดร. พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมจัดสัมมนา iEVTech 2023 ที่จะมีเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปีนี้จะเน้นเรื่องแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และจะมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อพูดคุยกันถึงโอกาส ความเหมาะสม และแนวทางการสนับสนุนแบตเตอรรี่เพื่อเป็นระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ ASEW ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 33 ได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีความต้องการเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 130% ทำให้ปีนี้มีพื้นที่จัดแสดง กว่า 20,000 ตร.ม. สำหรับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่เข้าร่วมแสดง กว่า 1,500 แบรนด์ อาทิ ABB, Delta, Anest Iwata, Oriental Copper, Siemens, Clenergy, Solar PPM, AMR Asia, Charge24, Trumpf และ Hexagon พร้อมกันนี้ยังจะได้พบกับพาวิเลียนนานาชาติกว่า 8 ประเทศ ทั้ง เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทางธุรกิจจากทั่วโลก และแลกเปลี่ยนความรู้เชิงลึกผ่านการประชุมและสัมมนาระดับนานาชาติกว่า 200 หัวข้อ ครอบคลุมหัวข้อด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในอนาคต รวมถึงมีการจัดงาน Electric Vehicle Asia 2023 และการประชุมนานาชาติด้านยานยนต์ไฟฟ้า iEVTech 2023 ควบคู่กันด้วย ทั้งนี้ การจัดงานในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 25,000 คน จากทั่วภูมิภาคครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมหลัก และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมรับฟังสัมมนาในหัวข้อต่างๆ รวมกว่า 5,000 คน จึงเชื่อมั่นว่าเวที ASEW และ EVA จะช่วยพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมด้วยพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนในอนาคตให้กับประเทศไทยได้

สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2023 และ งาน Electric Vehicle Asia 2023 ได้ที่ www.asew-expo.com

Advertisment