กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจงการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้าไม่ใช่สาเหตุหลักทำค่าไฟแพง

585
- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) แจงการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่าช้าไม่ใช่สาเหตุหลักทำค่าไฟแพง เผยที่ผ่านมาทำหน้าที่แสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่สร้างรายได้เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ ปีละกว่า 100,000 ล้านบาท

จากกรณีที่มีการกล่าวอ้างในสื่อบางสำนักว่าสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เนื่องจากกรมตั้งเงื่อนไขในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม โดยเชื่อมโยงกับกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับ ดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ในประเทศ ขอชี้แจงว่าทั้ง 2 กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ใช่สาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่าที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ทำหน้าที่แสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เป็นหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่สร้างรายได้เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ ปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดหาผู้ประกอบการสำรวจและผลิตในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (G1/61) และบงกช (G2/61) ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงได้เริ่มดำเนินการประมูลจัดหาผู้ประกอบการสำรวจและผลิตในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (G1/61) และบงกช (G2/61) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในปี 2561 เป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะสิ้นอายุสัมปทาน 4-5 ปี เพื่อให้การบริหารจัดการพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

- Advertisment -

โดยการประมูลดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการใช้ระบบสัมปทานและระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทย ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโดยคณะกรรมการปิโตรเลียมได้ทำการศึกษาและสรุปว่าการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) มีความเหมาะสมสำหรับใช้ในการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และบงกช ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทาน ทั้งนี้ผู้รับสัมปทานรายเดิมสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ คือ บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมการประมูลทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว ด้วย และผลการประมูลปรากฏว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้ง 2 แหล่ง โดยมีข้อเสนอส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติจากราคาตามสัมปทานเดิมและส่วนแบ่งกำไรตามหลักการของสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติม รวมมูลค่าถึงกว่า 6.5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต

 เงื่อนไขสำคัญในการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่ง ได้กำหนดให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต จะต้องดำเนินการต่าง ๆ ในระหว่างช่วงเตรียมการ (Transition Period) ตั้งแต่วันที่ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในปี 2562 จนถึงวันที่สิ้นอายุสัมปทานและเริ่มการสำรวจและผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 23 เมษายน 2565) เช่น การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ และการเจาะหลุมเพื่อเตรียมการผลิตปิโตรเลียมเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้ดำเนินงานในแปลง G1/61 จาก บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการเจรจาข้อตกลงการเข้าพื้นที่  ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานงานเร่งรัดทั้ง 2 บริษัท ภายใต้กรอบของกฎหมายและอำนาจหน้าที่ที่สามารถกระทำได้ จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2564 ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตจึงได้ลงนามข้อตกลงต่าง ๆ ทำให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถเข้าไปดำเนินการต่าง ๆ และสามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่องหลังจากสิ้นอายุสัมปทาน (วันที่ 23 เมษายน 2565)  และสามารถรักษาระดับการผลิตได้ที่ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งแม้จะไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ แต่ก็จะเป็นเพียงช่วงเริ่มแรกของสัญญาฯ เท่านั้น โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ผลักดันให้ผู้รับสัญญาเร่งการดำเนินงาน และปรับแผนงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ในขณะที่การผลิตปิโตรเลียมจากแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือผู้ดำเนินงานรายเดิม (ปตท.สผ. อีดี) ยังคงสามารถผลิตปิโตรเลียมได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และจะมีการเพิ่มการผลิตในปี 2566 ด้วย

 ทั้งนี้ ในช่วงที่ยังไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) ได้อย่างเต็มกำลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติม ประกอบด้วยการเร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าโดยเร็ว การประสานผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาในแหล่งอื่น ๆ ให้ผลิตอย่างเต็มความสามารถของแหล่ง การจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพิ่มเติมในแหล่งที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (แปลง B-17&C-19 เเละแปลง B-17-01) ตลอดจนส่งเสริมการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มเติมเพื่อลดการนำเข้าพลังงาน นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา ทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคานำเข้า Spot LNG สูง และการเลื่อนกำหนดการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตราคาพลังงานโลก ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน และความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาพลังงานของไทย โดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในส่วนของ LNG นำเข้าและราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ก็สะท้อนมายังค่า FT และค่าไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นด้วย 


สำหรับ กรณีข้อพิพาทการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณระหว่างรัฐบาลไทยและผู้รับสัมปทานรายเดิมซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฏหมายของผู้รับสัมปทานในการรื้อถอนฯ จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่ล่าช้าแต่อย่างใด เพราะการเข้าพื้นที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐได้ดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับกรณีพิพาทดังกล่าวภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการดูแลสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานต้องรับผิดชอบตามกฏหมาย ซึ่งรวมถึงการปิดและสละหลุมแบบถาวร โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง ตามหลักการของผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ดี อาทิ 1) ซิโน-ยู.เอส. ปิโตรเลียม อิงค์ 2) เอ็กซอน โมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ 3) เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด 4) บริษัท บุษราคัม มโนรา จำกัด 5) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

Advertisment