กฟผ.ขอโฟกัสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่และระบบสายส่งไฟฟ้าช่วง10ปีแรกตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP2018) ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ6แสนล้านบาท โดยยังรักษาสัดส่วนกำลังผลิตในภาพรวมเอาไว้ที่ประมาณ31% แต่หากช่วง10ปีหลัง รัฐไม่ให้กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ สัดส่วนของกฟผ.จะลดเหลือ 24% ชี้แผนPDPยังจะต้องทบทวนใหม่ทุก5ปี
นาย วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า การลงทุนของกฟผ.ตามแผนPDP2018 ส่วนใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าหลักในแต่ละภูมิภาคที่ตามแผนแบ่งออกเป็น7ภาค โดยเน้นการรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งในช่วง10ปีแรกของแผน(2561-2570)ถือว่ามีความชัดเจนว่า กฟผ.จะต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า จำนวน8โรง กำลังการผลิตรวมประมาณ5,400เมกะวัตต์ ประเมินเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3แสนล้านบาท และการลงทุนระบบสายส่งอีกประมาณ3แสนล้านบาท รวมเป็นเงินลงทุนประมาณ 6แสนล้านบาท
โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าโรงใหม่ของกฟผ. จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ยกเว้นโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะใช้ลิกไนต์ และจะต้องอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าเดิม เช่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าน้ำพอง ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซที่สุราษฏร์ธานี นั้น กำลังดูในรายละเอียดว่าจะมีการซื้อพื้นที่เพิ่มเติม
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการเงินนั้น กฟผ.กำลังพิจารณาในหลายๆรูปแบบเพื่อหาเครื่องมือหรือนวัตกรรมทางการเงินสมัยใหม่ ที่เหมาะสม มาใช้ในการลงทุน เพื่อให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ
นายวิบูลย์ กล่าวว่า การลงทุนตามแผนPDP2018 ในช่วง10ปีแรก จะทำให้สัดส่วนการผลิตของกฟผ. ลดลง เหลือประมาณ31%จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 35% โดยในช่วง10ปีหลังของแผน ที่จะมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ จะต้องรอการกำหนดนโยบายจากกระทรวงพลังงาน ว่าจะให้ กฟผ. เป็นผู้ลงทุนในโรงไฟฟ้าโรงใดอีก ซึ่งหากรัฐให้เอกชน ลงทุนแทนกฟผ.ทั้งหมด สัดส่วนกำลังการผลิตของกฟผ ก็จะลดลงเหลือประมาณ 24%ในปี2580
“แผนPDP2018 ยังจะต้องมีการทบทวนปรับปรุงใหม่ ทุกๆ5ปี จึงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงเน้นไปที่ช่วง10ปีแรกของแผนซึ่งค่อนข้างจะมีความชัดเจน โดย สัดส่วนกำลังการผลิต ของกฟผ.ที่จะลดเหลือประมาณ31% จาก35%ในปัจจุบัน ก็ยังถือว่าเพียงพอสำหรับการดูแลภาพรวมการรักษาความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ ” นายวิบูลย์ กล่าว