การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โชว์ผลงานนวัตกรรม ‘ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ’ ที่ช่วยให้การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยชาติและผู้ใช้ไฟประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 2,600 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้คิดค้นนวัตกรรมคือ ‘ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ’ โดยการนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาใช้เพื่อให้สามารถสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มใช้งานมา สามารถช่วยชาติและช่วยคนไทยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากถึง 2,600 ล้านบาท หรือลดลงครัวเรือนละ 0.03 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีต้นทุนการจัดทำระบบดังกล่าวเพียงชุดละ 30,000 บาท
‘ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ’ เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดย น.ส.สิริกัลยา พัชนี วิศวกรผู้ปฏิบัติงานของ กฟผ. ซึ่งหลักการทำงานจะเป็นการผสานกันระหว่างซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ โดยที่ซอฟต์แวร์จะเป็นระบบที่สามารถประมวลผลสภาพระบบไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแบบ Real time และสามารถตัดสินใจควบคุมระบบแทนมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 30 มิลลิวินาที ในขณะที่ฮาร์ดแวร์ เป็นกล่องควบคุมที่ติดตั้งอยู่ที่สถานีไฟฟ้า (Substation) ทำหน้าที่สั่งการควบคุมระบบไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าในสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อความมั่นคงของระบบและการรักษาเสถียรภาพ
“ระบบสั่งการโรงไฟฟ้าอัจฉริยะนี้ มีหน้าที่เข้ามาบริหารจัดการและตัดสินใจแทนมนุษย์ในเวลาเสี้ยววินาที โดยควบคุมการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนในการผลิตราคาต่ำได้เต็มที่ เช่น ในช่วงฤดูฝน โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว มีน้ำที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ซึ่งทรัพยากรน้ำมีต้นทุนในการผลิตถูกกว่าก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน ทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่ำลง และหากเกิดเหตุการณ์กับสายส่งเส้นใดเส้นหนึ่งขัดข้องไม่สามารถส่งไฟฟ้าได้ ระบบนี้จะสั่งการอัตโนมัติให้ตัดปริมาณไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไม่ให้ส่งไฟฟ้าจำนวน 400 เมกะวัตต์ เข้าสายส่งที่เหลือเพียงเส้นเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟฟ้าดับได้” สิริกัลยา กล่าว