กฟผ. และ อินโนพาวเวอร์ ลงนาม MOU พัฒนา​ Grid Modernization

516
- Advertisment-

กฟผ. และ อินโนพาวเวอร์ ลงนาม MOU บูรณาการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Grid Modernization) รองรับเทรนด์พลังงานหมุนเวียนในอนาคต

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการเพื่อการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อร่วมกันพัฒนา Grid Modernization ด้านอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ระบบศูนย์กลางและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการด้านอากาศยานไร้คนขับ (UAS) และระบบบริหารจัดการหม้อแปลงไฟฟ้าแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.

- Advertisment -

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. เผยว่า ในอนาคตระบบส่งไฟฟ้าจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้นเพื่อพัฒนาสมรรถภาพของโครงข่ายไฟฟ้า (Grid) สู่รูปแบบใหม่ การที่บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมให้การสนับสนุนโดยพัฒนาและนำเทคโนโลยีด้านระบบส่งไฟฟ้ามาใช้ภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ จะเป็นโอกาสในการต่อยอดและขยายผลเชิงธุรกิจต่อไป อีกทั้งยังเป็นโอกาสของประเทศที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้าน Grid Modernization ในภูมิภาคต่อไปอีกด้วย

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด มุ่งเน้นการลงทุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานแห่งอนาคต พร้อมพัฒนาธุรกิจใหม่และแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนและต่อยอด Grid Modernization หนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศและกลุ่ม กฟผ. ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปูทางสู่อนาคตให้กับประเทศและ กฟผ. ต่อไป

เทคโนโลยีด้านระบบส่งไฟฟ้า เป็นหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญเพื่อรองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) โดรน (Drone) วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) และเทคโนโลยีโลกเสมือน (AR/VR) ช่วยให้การตรวจสอบการปฏิบัติงานและบำรุงรักษาระบบส่งไฟฟ้าเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2) เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และ IoT เป็นการบูรณาการระบบบริหารจัดการข้อมูลที่ทันสมัยเข้ากับระบบส่งไฟฟ้า สามารถติดตามและตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของสายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูงได้แบบ Real-Time 3) แพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูล ช่วยให้การรับทราบข้อมูล ตลอดจนการติดตามและวิเคราะห์ภาพรวมระบบส่งไฟฟ้าของประเทศครอบคลุมครบถ้วน ทำให้การจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อประมวลผลข้อมูลเชิงสถิติของพลังงานไฟฟ้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า (Grid Stability) ให้รองรับพลังงานหมุนเวียนและความต้องการใช้ไฟฟ้าจากยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากได้

Advertisment