กฟผ. เหมืองแม่เมาะ คว้ารางวัล Green Mining Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ตอกย้ำความเป็นเลิศด้านธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับมอบรางวัล โครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี และโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะจากนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในพิธีมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2565 (Green Mining Award 2022) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร
นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวว่า รางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2565 (Green Mining Award 2022) เป็นรางวัลที่กระทรวงอุตสาหกรรม มอบให้กับหน่วยงานที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการใช้มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับการประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีนี้ เหมืองแม่เมาะ ได้รับคัดเลือกและรับการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ มีคุณสมบัติเหมาะสมและครบถ้วน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี ได้รับรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องดีเด่น ซึ่งได้รับรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 และโครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะได้รับรางวัลประเภทรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ. แม่เมาะ ต่อการประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ได้รับรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องดีเด่น จากโครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 7 โดยได้ยึดหลักปฏิบัติที่สำคัญ
ตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม 2. ด้านกำจัด ลด ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3. ด้านกำกับดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย ของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง 4. ด้านการมีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา 5. ด้านการประกอบกิจการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ 6. ด้านการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าที่สุด ตลอดจนคำนึงถึงการดูแลสภาพแวดล้อมที่ดี พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่ของเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน