กฟผ. เสนอแผนนำเข้า LNG ล็อตใหม่ ช่วงปี 2563-2565 ให้กระทรวงพลังงานแล้ว ในขณะที่การพิจารณาว่า กฟผ.จะสามารถนำเข้าได้หรือไม่ ต้องรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) สรุปผลการทดสอบนำเข้า จำนวน 2 ลำเรือ ปริมาณ 130,000 ตัน เพื่อเสนอ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ให้ความเห็นชอบก่อน โดยแหล่งข่าวระบุมีโอกาสน้อยที่ กฟผ.จะได้นำเข้าLNG ตามแผนที่เสนอ เนื่องจากการทดสอบนำเข้าลำเรือแรกมีผลกระทบต่อค่าคุณภาพก๊าซหรือ Wobbe Index (WI) ที่ปตท.จัดส่งให้กับลูกค้าบางราย
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้เสนอแผนการจัดหา LNG ของ กฟผ. ระหว่างปี 2563 – 2565 เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว โดยมี 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว คือจัดซื้อจาก ปตท. ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ Global DCQ และการจัดซื้อระยะสั้น โดยจัดหา LNG เพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท. ซึ่งคณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในเดือนมีนาคมนี้
รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า หาก กฟผ. สามารถดำเนินการจัดหา LNG ได้ตามที่คณะกรรมการ กฟผ. เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนการจัดหา LNG ล็อตใหม่ได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท หรือส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในค่า Ft ลดลงประมาณ 0.86 สตางค์ต่อหน่วย
สำหรับกรณีการจัดหาและนำเข้า LNG แบบตลาดจร (SPOT) ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 นั้น ปัจจุบัน กฟผ. ได้ดำเนินการนำเข้า LNG ลำเรือแรกจำนวน 65,000 ตัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 – 29 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศต่ำ (Off-Peak) ณ สถานี LNG มาบตาพุด จ.ระยอง และสำหรับการนำเข้า LNG ลำเรือที่สอง ในปริมาณ 65,000 ตัน จะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศสูง (Peak)
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แผนการจัดหา LNG ของ กฟผ. ระหว่างปี 2563 – 2565 โดยเสนอปริมาณที่จะนำเข้าLNG แบบ SPOT ที่ยังมีราคาต่ำ รวมประมาณ 1.6ล้านตัน นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ซึ่งจะต้องรอผลการทดสอบนำเข้าลำเรือที่สองในปริมาณ 65,000ตันก่อน จากนั้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการสรุปผลการทดสอบนำเข้าLNG ทั้ง2ลำเรือ ของ กฟผ. ว่ามีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร
ทั้งนี้ในการนำเข้าลำเรือแรก จำนวน 65,000ตัน เมื่อปลายเดือนธ.ค.2562นั้น พบว่า มีปัญหาที่กระทบต่อคุณภาพก๊าซในระบบท่อก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.จัดส่งให้กับลูกค้าบางราย ซึ่งทำให้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องช่วยผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับบางอย่างให้ ดังนั้น การนำเข้าLNG จำนวนที่มากขึ้นของกฟผ. จึงต้องมีการพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมทั้งต้องคำนึงถึงมติ กพช.เมื่อปี2560 ที่ต้องเปิดให้ shipper รายอื่นๆ นอกเหนือจาก กฟผ. มีโอกาสเข้ามาแข่งขันด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นปัญหาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า LNGล็อตใหม่ นอกเหนือจากการทดสอบนำเข้า สองลำเรือ ของ กฟผ.นั้น ทาง ปตท.ได้มีการตั้งคณะทำงาน ที่มีผู้แทนจาก สนพ. สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงานกกพ.) และ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เข้าร่วมด้วย เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพก๊าซธรรมชาติในระบบท่อและการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของลูกค้าที่มีสัญญาซื้อก๊าซกับปตท.ผ่านระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซบนบก เนื่องจากก๊าซในระบบท่อ ที่ปตท.เป็นผู้บริหารจัดการ นั้น ได้มีข้อกำหนดค่าควบคุมคุณภาพก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่เรียกว่า Wobbe Index (WI) ตกลงกันกับลูกค้าเอาไว้แล้ว โดยเป็นไปตามประกาศของ กกพ. ดังนั้นหากมีการนำเข้าก๊าซโดยรายอื่นๆเข้ามารวมอยู่ในระบบท่อ แล้วทำให้ค่า Wobbe Index (WI) เปลี่ยนแปลงจนกระทบกับลูกค้าของปตท. รัฐจะต้องมีคำตอบหรือทางออกว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่ง สำนักงานกกพ.จะต้องรวบรวมประเด็นเสนอให้ฝ่ายนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้เท่าที่รัฐมีข้อมูล มีโอกาสน้อยมากที่ กฟผ.จะได้เป็นผู้นำเข้าLNG ล็อตใหม่ในปี2563-2565 ตามแผนที่นำเสนอ