การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมวงแก้ปัญหาโลกร้อน หนุนวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. เดินหน้าลงทุนตามแผนพีดีพี ในระยะยาว ด้วยโครงการโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริดโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 9 เขื่อนของ กฟผ. รวม 2,725 เมกะวัตต์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดโลกร้อน ประเดิม เขื่อนสิรินธร เป็นแห่งแรก 45 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ก.ค. 2564 นี้ พร้อมยกระดับพื้นที่บางกรวย ที่ตั้งสำนักงานใหญ่เป็น Green Community พื้นที่สีเขียวต้นแบบ
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ.ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นการร่วมรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. ของทุกปี โดยไฮไลท์เป็นการเสวนาหัวข้อ “ภาวะโลกรวน ป่วนลมหายใจ” กับกูรูด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ.และรองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินรายการโดยนายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร หรือ ท็อป พิธีกรและนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน โดยมีการถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กเพจ กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โดยในประเด็นที่น่าสนใจในการเสวนา นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในภาคพลังงาน โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่ง กฟผ.ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมกับหลายหน่วยงานดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมา มีโครงการปลูกป่าไปแล้ว 468,662 ไร่ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 9.74 ล้านตันต่อปี และช่วยปล่อยออกซิเจนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศกว่า 7.08 ล้านตันต่อปี
การเป็นผู้ให้การรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน ( Renewable Energy Certificate -REC) ที่เป็นกลไกช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
และล่าสุดที่ กฟผ.มีความภูมิใจมาก คือการดำเนินโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System หรือ โซล่าร์ลอยน้ำแบบไฮบริดกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. เพื่อเสริมระบบการผลิตไฟฟ้าที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วงกลางวันสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และกลางคืนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนPDP ที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปในระยะยาวใน 9 เขื่อนของ กฟผ. กำลังผลิตติดตั้งรวม 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งในเดือน ก.ค. 2564 นี้คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นแห่งแรก ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำระบบไฮบริดที่มีขนาดใหญ่สุดในโลกในขณะนี้
โดยกฟผ.ยังได้มีการลงทุนปรับภูมิทัศน์รอบเขื่อนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ กฟผ. จะยกระดับพื้นที่บางกรวย ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ กฟผ. ให้กลายเป็นชุมชนสีเขียวต้นแบบ หรือ Green Community ที่มีการบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและลดการปล่อยมลภาวะสู่อากาศ เช่น การจัดการให้วินมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันกลายเป็น วินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) และท่าเรือEV เป็นต้น
กฟผ. ยังได้จัดทำแผนจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมคุณภาพอากาศ (EGAT Air TIME ) ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและพิจารณาว่ากิจกรรมการผลิตไฟฟ้าส่งผลต่อคุณภาพอากาศอย่างไร และนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่าง กฟผ. ,กระทรวงพลังงาน ,กรมควบคุมมลพิษ,สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDAและ คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ที่ผ่านมาภายใต้หัวข้อ “Breathe our Future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” สร้างเครื่องมือสำหรับให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ สำหรับนำไปต่อยอดจัดการปัญหามลพิษในอากาศต่อไป
“ตัวอย่างการนำแผน EGAT Air TIME มาใช้ เช่น โรงไฟฟ้าใหม่ จะต้องทดลองจุดไฟครั้งแรก ก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับสารเคลือบท่อซึ่งล้างยาก ต้องล้างไปเผาไปช่วง 2-3 ชม.แรก และส่งกลิ่นเหม็น ทีมงานจึงคิดพยากรณ์คุณภาพอากาศ และทิศทางของลมพัด ซึ่งดูได้ล่วงหน้า 7 วัน จากนั้นก็เลือกวันที่เหมาะสมในการเผาครั้งแรก ส่งผลให้กลิ่นไม่กระทบชุมชน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนเครื่องผลิตไฟฟ้าให้รองรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ดีขึ้น และ การนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้คู่กับโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับ เป็นต้น ”
ทั้งนี้แนวคิด EGAT Air TIME ต้องทำในระยะยาว และการผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนสูง การปรับเปลี่ยนประเภทโรงไฟฟ้าทันทีจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนได้ อย่างไรก็ตามเห็นว่ารัฐบาลต้องตัดสินใจว่าในอนาคตจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทใดเป็นหลัก หรือจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากเท่าไหร่ ซึ่ง กฟผ.พร้อมให้การสนับหนุนและเดินทางไปสู่เป้าหมายรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ตามเห็นว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเป็นหน้าที่ของทุกคน กฟผ.จึงดำเนินงานภายในสโลแกน EGAT for ALL หรือ กฟผ.เป็นของทุกคน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานและตระหนักถึงภาวะโลกร้อน พร้อมช่วยกันใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
สำหรับงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ.ประจำปี 2564 จะยังมีการจัดเสวนาในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 2-30 มิ.ย. 2564 ภายใต้แนวคิด “Green For ALL…รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อโลก เพื่อเรา โดยการจัดงานในปีนี้อยู่ในรูปแบบงานที่เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคCOVID-19 ที่จัดนิทรรศการออนไลน์ หรือ E-Exhibition ผ่านเว็บไซต์ https://env64.egat.co.th/ ซึ่งผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์รูปแบบใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานผ่านโลกออนไลน์ โดยรวบรวมความรู้และความสนุกจากเกมมากมาย
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภาวะโลกร้อน เป็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องระวัง ซึ่งจากการสำรวจของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ไทยได้รับผลกระทบจากโลกร้อนติดอันดับ 8 ของโลก เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องใช้น้ำมาก และมีแนวชายฝั่งทะเลยาว อาจได้รับผลกระทบจากสึนามิ และการเปลี่ยนแปลงด้านภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมองว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคน เริ่มตั้งแต่การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การเลือกเดินทางด้วยระบบคมนาคมของประเทศ ที่รัฐบาลกำลังลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่ เป็นต้น รวมทั้งควรช่วยกันปลูกต้นไม้คนละต้น และประหยัดการใช้พลังงาน เลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ในเวลานี้
ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ.และรองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ร่วมมือกับ กฟผ. จัดทำแอพพลิเคชั่น Sensor for all ซึ่งเป็นการนำเซนเซอร์ไปติดตั้งให้ทั้วประเทศ เพิ่มเติมจากการติดตั้งเซนเซอร์ของกรมคุมมลพิษ เพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศทั่วประเทศแบบเรียลไทม์ทุก 5 วินาที ให้คนไทยได้รับทราบสำหรับวางแผนจัดการแก้ปัญหาสภาพอากาศ ณ วันนั้นๆ โดยในปี 2564 มีเป้าหมายติดตั้ง 500 จุด แต่ขณะนี้ติดตั้งไปได้แล้วเกือบ 1,000 จุดทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะนำมาช่วยคาดการณ์สภาพอากาศใน 3-5 วันให้ประชาชนได้รับทราบและให้รัฐบาลใช้วางแผนด้านนโยบายเกี่ยวกับสภาพอากาศต่อไป