กฟผ.พาสื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai  ขนาด 400 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดบนเกาะไห่หนาน 

258
- Advertisment-


กฟผ.พาสื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai  ขนาด 400 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดบนเกาะไห่หนานของจีน หวังนำจุดเด่นมาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ กฟผ. ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

เมื่อเร็วๆนี้คณะผู้บริหารของ กฟผ.นำโดย นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมสื่อมวลชนจากหลายสำนักได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai (อิง-เก้อ-ไห่) ขนาดกำลังผลิต 400 เมกะวัตต์ บนเกาะไห่หนาน ประเทศจีน ซึ่งเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเกาะพลังงานสะอาดในปี 2030 นี้ 

โดยจุดเด่นของโรงไฟฟ้าอิงเก้อไห่ แห่งนี้ คือการเปลี่ยนพื้นที่นาเกลือเก่า และพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่ง Nachao ให้เป็นโรงไฟฟ้าโดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานรวมกว่า 200 เมกะวัตต์/ชั่วโมง เพื่อรักษาเสถียรภาพ ควบคุมความถี่ของระบบไฟฟ้าในเขต Ledong และทั่วทั้งมณฑลไห่หนาน ตลอดอายุ 25 ปี โดยมีบริษัท Hainan Holdings Energy Company  เป็นผู้พัฒนาโครงการ 

- Advertisment -

ทั้งนี้โครงการสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 654 ล้านหน่วย ประเมินว่าช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 548,819 ตัน โดยแบ่งพื้นที่โครงการเป็นดังนี้ 

โครงการต้นแบบ เริ่มต้นในปี 2561 กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์

– เงินลงทุนประมาณ 896 ล้านบาท (190 ล้านหยวน)

– ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 45 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ต่อปี

 Tianhao Power Station กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2565

– เงินลงทุนประมาณ 2,455 ล้านบาท (520 ล้านหยวน)

– ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 165 ล้าน กิโลวัตต์/ชั่วโมง ต่อปี

– ระบบกักเก็บพลังงาน 50 เมกะวัตต์/ชั่วโมงดำเนินการโดยบริษัท Baoguang Zhizhong (การกักเก็บพลังงานถูกจัดสรรในอัตราส่วน 25% ของกำลังผลิตติดตั้ง)

Tongsheng Power Station กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์แบ่งเป็น

– ระยะที่ 1 : 100 เมกะวัตต์เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2565 

ระยะที่ 2 : 200 เมกะวัตต์เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2566

– เงินลงทุนประมาณ 8,458 ล้านบาท (1,790 ล้านหยวน)

– ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 495 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมงต่อปี

– ระบบกักเก็บพลังงาน 150 เมกะวัตต์/ชั่วโมงดำเนินการโดย 2 บริษัท คือ BYD จำนวน 50 เมกะวัตต์/ชั่วโมงและ Sungrow Power Supply จำนวน 100 เมกะวัตต์/ชั่วโมง (การกักเก็บพลังงานถูกจัดสรรในอัตราส่วน 25% ของกำลังผลิตติดตั้ง)

นอกจากนี้ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของโรงไฟฟ้า Yinggehai คือระบบควบคุมที่สามารถสั่งการ โดยการตั้งเวลาและเส้นทางให้หุ่นยนต์และโดรนออกไปสำรวจแผงโซลาร์เซลล์และพื้นที่ระบบกักเก็บพลังงานแบบอัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ หรือสิ่งแปลกปลอม ด้วยระบบอินฟราเรด ในการตรวจวัดอุณหภูมิ ด้วยระบบประมวลผล AI ซึ่งสามารถแจ้งเตือนได้ทันทีเมื่อแผงโซลาร์เซลล์เกิดความผิดปกติ พร้อมวิเคราะห์ความผิดปกติดังกล่าวว่าจะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ โดยหากจำเป็นต้องมีการแก้ไข ระบบจะสามารถแจ้งความผิดปกติ พร้อมให้ข้อแนะนำได้ตรงจุดและแม่นยำ ช่วยลดระยะเวลา และจำนวนเจ้าหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ทั้งหมด พร้อมเสริมประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการเยี่ยมชมโครงการว่า จุดเด่นของโครงการโรงไฟฟ้า อิงเก้อไห่ สร้างความมั่นใจให้ กฟผ. เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ และตอบโจทย์พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำโครงการที่เหลืออีก 2,656 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ตามร่างแผน PDP2024 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำพุง รวม 15 โครงการ โดยการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. นั้นเป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อน จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่ดิน สามารถใช้อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ 

ตัวอย่างโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำของ กฟผ.ที่มีการดำเนินการเแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว

ปัจจุบัน โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ 3 ของ กฟผ. อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี 

Advertisment