กฟผ.จับมือเนโดะและมารูเบนิ นำเทคโนโลยีดิจิทัล ใช้ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วย11,13

1579
- Advertisment-

กฟผ. ร่วมกับองค์การเนโดะ และบริษัท มารูเบนิ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 หวังยกระดับกระบวนการผลิตไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2563) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท มารูเบนิ จำกัด จัดพิธีลงนามความร่วมมือนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 โดยมีนายโคบายาชิ อิซึรุ กรรมการบริหาร องค์การเนโดะ ประเทศญี่ปุ่น นายฮาราดะ ซาโตะรุ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจพลังงาน บริษัท มารูเบนิ จำกัด และนายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และมีนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน  ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

- Advertisment -

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้พัฒนางานด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และยกระดับกระบวนการผลิตไฟฟ้า ลดต้นทุนการผลิตในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 นั้นได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้จะช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อาทิ การเชื่อมต่อข้อมูลเดินเครื่องและบำรุงรักษาด้วยระบบ IoT การนำ AI มาวิเคราะห์และช่วยปรับปรุงค่า Heat Rate การใช้ระบบติดตามเพื่อตรวจจับความผิดปกติซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และระบบวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านการเงิน ความเสี่ยง และโอกาสในการผลิต

รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การเนโดะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก และยังเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท มารูเบนิ จำกัด เป็นครั้งที่ 3 เพื่อดำเนินการติดตั้งและนำระบบดิจิทัลมาใช้งานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมี
กรอบระยะเวลา 3 ปี ได้แก่ ปี 2563 เป็นการติดตั้งระบบ และในปี 2564 – 2565 จะเป็นการทดสอบใช้งานจริง

ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายว่า เมื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้งานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 แล้ว จะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 0.45%

โดยก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 กับบริษัท มารูเบนิ จำกัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2561

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 และ 13 มีกำลังการผลิตหน่วยละ 300 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังผลิตทั้งสิ้น 600 เมกะวัตต์ โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองที่อยู่ในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

Advertisment