ผู้บริหารกฟผ. คาดใช้เวลา2เดือน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่ 3 ขนาดกำลังผลิต 576 เมกะวัตต์ มาใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าร่วมกับก๊าซธรรมชาติ โดยคาดว่าจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณเดือนละ 30,000 ตัน และมีเป้าหมายที่จะดูดซับให้ได้ถึง 160,000 ตัน
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในการประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มตกต่ำ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีมติให้กระทรวงพลังงานนำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าจำนวน 160,000 ตัน เพื่อลดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มภายในประเทศนั้น กฟผ. กำลังเร่งดำเนินการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 ขนาดกำลังผลิต 576 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถรองรับการนำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน และจะเริ่มนำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณกลางเดือนมกราคมปีหน้า โดยจะใช้น้ำมันปาล์มดิบประมาณเดือนละ 30,000 ตัน ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาของน้ำมันปาล์ม ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มตามนโยบายของรัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะให้การสนับสนุนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการขออนุมัติในการปรับใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อสามารถใช้น้ำมันปาล์มร่วมกับก๊าซธรรมชาติตามนโยบาย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า จะใช้น้ำมันปาล์มไปเผาเป็นเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าของกฟผ. 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าราชบุรี และบางปะกง เป็นเวลา3 เดือน โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณกลางมาช่วยรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท และ อีก 500 ล้านบาท ให้ กฟผ. เป็นผู้รับภาระ เพื่อให้สามารถดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มที่ล้นตลาดได้ 1.6 แสนตัน อย่างไรก็ตาม ในการเปิดเผยของนายพัฒนา ในเอกสารข่าวจากทางกฟผ. ยังไม่ได้ระบุถึงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าราชบุรี
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 และ 2558 รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน เคยแก้ปัญหาปาล์มล้นตลาดจนส่งผลให้ราคาปาล์มตกต่ำ แล้วโดยนำไปผสมกับน้ำมันเตาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งได้มีการสรุปผลมาตรการดังกล่าวด้วยเช่นกันว่า เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดผลได้ไม่คุ้มกับผลเสีย เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มสูงถึง 8.42 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับน้ำมันเตาที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ 3.78 บาทต่อหน่วย และยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า โดยในครั้งนั้น ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถูกผลักไปให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันรับภาระในค่าไฟฟ้าส่วนของค่าเอฟที
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการตั้งข้อสังเกตจากอดีตผู้บริหารของกฟผ.บางคน ที่ต้องการทราบถึงเหตุผลในการขนส่งน้ำมันปาล์มจากภาคใต้มาเผาที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ที่มีระยะทางไกลมากกว่า 500 กิโลเมตร และจะมีต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์ให้รองรับการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิง แทนที่จะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่ปลูกปาล์มมากกว่า และมีการปรับปรุงอุปกรณ์ไว้พร้อมแล้ว โดยการนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกง ยังมีประเด็นที่ต้องจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือEIA เพิ่มเติมด้วย