กฟน.ปรับธุรกิจให้เป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย ควบคู่การจำหน่ายไฟฟ้ารองรับ Prosumer

268
- Advertisment-

การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เตรียมปรับธุรกิจเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เกินแห่งละ 1 เมกะวัตต์ ควบคู่ธุรกิจการจำหน่ายไฟฟ้า รองรับ แนวโน้ม Prosumer   ในอนาคต โดยจะ เน้นลงทุนระบบ Energy Storage รับซื้อและขายไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับกลุ่ม Prosumer เป็นหลัก  ซึ่งได้มีการลงนามกับ BCPG เพื่อศึกษาระบบซื้อขายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพภายในระยะเวลา2ปี   

นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)โครงการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ร่วมกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด(มหาชน)เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและการบริหารจัดการพลังงาน หรือธุรกิจอื่นๆที่มีความเห็นร่วมกัน โดยมีระยะเวลาศึกษา 2 ปี

ทั้งนี้ กฟน. มีแนวทางจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ต่อแห่ง โดยคาดว่าจะจัดทำในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะกระจายอยู่ในพื้นที่ที่เอกชนไม่เข้าไปลงทุน เพราะไม่มีนโยบายแข่งขันกับเอกชน

- Advertisment -

โดยการผลิตไฟฟ้าจะเป็นการเข้าไปลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่สำรอง หรือ Energy Storage และรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและจำหน่ายส่วนเกิน (Prosumer )  มาเก็บไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งเปรียบเสมือนการทำธุรกิจให้บริการรับฝากไฟฟ้าของ Prosumer

ยกตัวอย่างเช่นกรณี Prosumer ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ในช่วงกลางวันที่ผลิตไฟฟ้าได้แต่ ตัวเองไม่มีความต้องการใช้  ก็สามารถขายเข้าระบบให้ กฟน.ได้  ซึ่ง กฟน.จะจัดเก็บไว้ใน Energy Storage จนเมื่อ Prosumer  ต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเย็น ก็สามารถซื้อไฟฟ้ากลับคืนไปได้

ข้อดีของธุรกิจดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย เนื่องจากเห็นว่าในอนาคตความต้องการใช้ไฟฟ้าไทยจะสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไฟฟ้าในระบบอาจไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้ ดังนั้นโครงการนี้จะเข้ามาช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและรองรับการเปลี่ยนแปลงของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นเป็นหลัก นอกจากนี้ราคาค่าไฟฟ้าจะถูกกว่าการซื้อจากระบบไฟฟ้าปกติ เนื่องจากราคาค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเริ่มมีราคาถูกลงมาก อย่างไรก็ตาม กฟน.จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบดังกล่าว โดยกำลังศึกษาร่วมกับบริษัท BCPG เป็นเวลา 2  ปีจากนี้

ด้าน นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด(มหาชน) หรือ BCPG กล่าวว่า  ปัจจุบันเริ่มมี Prosumer มากขึ้นดังนั้น จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่ง BCPG ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยี blockchain มาทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้า และการลงนามครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาการบริหารจัดการการซื้อขายไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

โดยขณะนี้บริษัท อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้ารายย่อยหลายราย เช่น กลุ่มบ้านอยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย และนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าขายปลีก(retail) ผ่านการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) คาดว่า จะได้รับมอบให้ผลิตไฟฟ้าในปี 2561  ประมาณ  20-30 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน มีกำลังผลิตกว่า 12 เมกะวัตต์ คือ ติดตั้งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 12 เมกะวัตต์ และโครงการทดลองนำ “Blockchain Technology” ไปใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) หรือ SIRI ในพื้นที่ “Sansiri Town Sukhumvit 77” หรือ T77 ย่านสุขุมวิท 77 จำนวน 635 กิโลวัตต์

โดยโครงการ T77 เตรียมเปิดโครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป ระหว่างผู้บริโภคภายในชุมชนในวันที่ 22 ส.ค.2561 นี้ ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการการซื้อขายไฟฟ้าให้มีราคาต่ำกว่าราคาขายปลีกไฟฟ้าราว 15%  และ มีเป้าหมายจะดำเนินโครงการในลักษณะนี้ให้ครบ 2 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563

Advertisment