คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) ไฟเขียวให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหา LNG สัญญาระยะยาวเพิ่มอีก 1 ล้านตันต่อปี จากสัญญาเดิม 5.2 ล้านตันต่อปี เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยให้ ปตท.นำสัญญาซื้อขายเสนอ กบง.พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 65 ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช. )ผ่านระบบ Video Conference โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดย กพช. มีมติเห็นชอบให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดหา ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กพช. กำหนด และให้ ปตท. นำสัญญาซื้อขาย LNG สัญญาระยะยาว เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า การตกลงจัดหาซื้อก๊าซไว้ล่วงหน้าจะเป็นประโยชน์กับประเทศในอนาคต ซึ่งข้อเสนอการจัดหาก๊าซ LNG ของ ปตท. เป็นการลดความเสี่ยงในการจัดหา LNG ในอนาคต และเป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ อย่างไรก็ตามขอให้ กกพ. ติดตามผลกระทบต่อราคาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในประเทศในอนาคต เพราะการนำเข้าก๊าซจะเกิดขึ้นในปี 2569 ในขณะที่ความผันผวนด้านราคาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะสิ้นสุดลงแล้ว หรืออาจจะมีต่อไปก็ได้ ดังนั้นจะเสี่ยงไม่ได้ โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งขอให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดหา LNG ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยคำนึงถึงหลักการ ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจ ความไว้วางใจ โดยขอให้ทุกคนได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางสื่อต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจ มีเหตุผลในการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญในวันนี้คือการขับเคลื่อนไปสู่การประหยัดพลังงาน ที่ต้องมีรูปแบบการประหยัดพลังงานที่จะเกิดผลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และส่งผลกับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยกันประหยัดพลังงานด้วย