สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมเสนอ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณา “มาตรการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ที่จะหมดอายุในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ ระบุหากไม่ขอขยายเวลา จะส่งผลให้กองทุนฯ ต้องหยุดชดเชยราคาน้ำมันทุกชนิดทันที ชี้กฎหมายกำหนดให้สามารถขอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปได้อีก 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี สกนช. เคยสำรวจเกษตรกรยังไม่พร้อมปรับตัว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) สัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณา “มาตรการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ที่จะหมดอายุในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ โดยจะมีการเสนอทั้ง ข้อดี-ข้อเสีย ของการขยายและไม่ขยายเวลามาตรการดังกล่าว ซึ่งทาง กบน. จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ
สำหรับมาตรการดังกล่าว กำหนดให้ยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ หลังวันที่ 24 ก.ย. 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถนำเงินไปพยุงราคาน้ำมันในประเทศไทยได้อีกต่อไป ทำให้ทั้งราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์และกลุ่มดีเซล จะต้องถูกปล่อยลอยตัวตามราคาน้ำมันโลก
ทั้งนี้แม้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ได้หยุดการชดเชยราคาดีเซลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา แต่ยังสามารถกลับมาชดเชยราคาดีเซลได้อีก หากราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ราคาดีเซลสูงเกินเพดานราคาที่รัฐควบคุมไว้ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร (มีผลถึง 31 ต.ค. 2567) ซึ่งสามารถกลับมาชดเชยราคาดีเซลได้ แต่ต้องดำเนินการก่อนครบกำหนดสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 24 ก.ย. 2567 ส่วนกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ทาง กบน. ไม่ได้ชดเชยราคามานับตั้งแต่ 31 ม.ค. 2567 เป็นต้นมา แล้ว
ดังนั้นหากไม่มีการขอขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไป จะส่งผลให้กองทุนฯ ไม่สามารถชดเชยราคาน้ำมันได้อีก ยกเว้นกรณีเกิดวิกฤติฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ตามกฎหมาย พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันในประเทศ โดยสามารถขอผ่อนผัน “มาตรการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี
โดยที่ผ่านมา สกนช. ได้ขอผ่อนผันไปแล้ว 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในวันที่ 24 ก.ย. 2567 ดังนั้นหากต้องการให้นำเงินมาชดเชยราคาดีเซลได้อีก จะต้องขอขยายเวลาต่ออีก 1 ครั้ง หรืออีก 2 ปี ซึ่งจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 แทน
สำหรับสาเหตุที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้กองทุนฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (น้ำมันที่มีส่วนผสมจากพืชตามธรรมชาติ เช่น เอทานอล กลายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่างๆ และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ กลายเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเกรดต่างๆ ) ก็เพื่อป้องกันการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ที่ต้องใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพราคาพลังงานในช่วงวิกฤติเท่านั้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเห็นว่า ควรขอผ่อนผันมาตรการฯ ดังกล่าวไปอีก 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยที่ผ่านมา สกนช. ได้พยายามเข้าไปให้ข้อมูลผู้ประกอบการปาล์มน้ำมันและเอทานอล เพื่อให้เตรียมปรับตัว เช่น ให้หันมาเพิ่มมูลค่าให้กับเอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ด้วยการต่อยอดเอทานอลไปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องสำอางและการทำขนมแทน ส่วนน้ำมันปาล์ม ก็ให้นำไปใช้บริโภค หรือ นำไปทำเป็นน้ำมันนวดขาแทนได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้ามากขึ้นด้วย แต่การปรับตัวยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร ดังนั้นหากยกเลิกการชดเชยราคาทันที จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและเกษตรกรทั้งระบบ จึงควรขอขยายเวลาในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวออกไปก่อน