กบง.เห็นชอบ4โมเดลลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน กำหนดอัตรารับซื้อไฟสูงจูงใจนักลงทุน

6521
- Advertisment-

กบง.เห็นชอบ 4 โมเดลตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสียหรือของเสีย) และโรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดจากการผสมผสานของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆโดยเสนออัตราค่าไฟฟ้าจูงใจผู้ลงทุน ตั้งแต่ 5.22-5.84 บาทต่อหน่วยในระยะ8ปีแรก พร้อม กำหนดให้ชุมชนถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 %  ตั้งเงื่อนไขให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย  พร้อมเสนอ กพช.อนุมัติ 16 ธ.ค.นี้  ก่อนส่งต่อให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า ช่วงต้นปี 2563  และทะยอยจ่ายไฟเข้าระบบภายในปี2565

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในวันนี้(4 ธ.ค.62)ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ใน4 รูปแบบประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ จากพืชพลังงาน โรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (น้ำเสียหรือของเสีย) และโรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดจากการผสมผสานของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

โรงไฟฟ้าชุมชนที่จัดตั้ง จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10เมกะวัตต์ กำหนดเป้าหมายการรับซื้อเอาไว้รวม 1,000เมกะวัตต์ ซึ่งแต่ละแห่ง จะต้องเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือถือหุ้นบุริมสิทธิ์ในโรงไฟฟ้าในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า10% ร่วมกับเอกชนทั้งหมด หรือเอกชนร่วมกับภาครัฐ โดยจะไม่กำหนดเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของชุมชนไว้ เพื่อเปิดช่องให้กับเอกชนเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนเข้ามาได้ รวมทั้งจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย   ยกเว้นโมเดลโรงไฟฟ้าไฮบริด ที่จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นเชื้อพลิงหลัก 25 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ 50 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้เอกชนผู้ลงทุนจะต้องทำพันธสัญญากับเกษตรกรในชุมชน ในการปลูกพืชพลังงานเพื่อส่งป้อนให้โรงไฟฟ้าด้วย

- Advertisment -

สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น จะเป็นไปตามอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมที่ประกาศไว้เมื่อปี 2558 โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดตั้งแต่ 1-3 เมกะวัตต์ จะรับซื้อที่ 4.82 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี แต่บวกให้อีก 40 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรก หากขนาดเกินกว่า 3 เมกะวัตต์ขึ้นไป จะรับซื้อที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 30 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วง 8 ปีแรกส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียทุกขนาด จะรับซื้อในอัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก รวมทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานทุกขนาด จะรับซื้อที่ 5.34 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี และบวกเพิ่มให้อีก 50 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 8 ปีแรก

ส่วนโรงไฟฟ้าประเภทไฮบริดแยกเป็น 2 ราคาเช่นกัน ตามชนิดเชื้อเพลิงดังกล่าว และจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 2 บาทต่อหน่วย

สำหรับแนวทางการคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกขึ้นมา เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของเอกชนที่เสนอโครงการเข้ามา โดยจะยึดหลัก การเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับชุมชนมากที่สุด ร่วมกับอัตราค่าไฟฟ้าที่เสนอขาย โดยหลักเกณฑ์และแนวทางการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนและการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 นี้ และหลังจากนั้นจะมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปออกหลักเกณฑ์ และระเบียบในการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงต้นปี 2563และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี  2565

นอกจากนี้ กบง. ยังได้รับทราบแนวทางการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100) เพื่อใช้ผสมเป็นดีเซลหมุนเร็ว โดยยังคงให้ใช้หลักเกณฑ์ในปัจจุบันไปก่อน และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ติดตามผลการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานและศึกษาผลกระทบต่างๆ รวมทั้ง เร่งศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่ที่เหมาะสม และนำมาเสนอ กบง. เพื่อประกอบการศึกษาผลทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคา B100 ต่อไป

Advertisment