กนอ. คาดลงนามร่วมเอกชนเดินหน้ามาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้ ก.ค. นี้ หลังเจรจาผลตอบแทนรัฐมากขึ้น

1482
(ซ้าย) นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และ (ขวา) นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
- Advertisment-

บอร์ดอีอีซี รับทราบ กนอ. ปิดการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีทีแทงค์ หลังรัฐได้รับผลตอบแทนการลงทุนในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) มากขึ้น เล็งเสนอให้ ครม. พิจารณาในการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. 2562 และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ชี้โครงการช่วยขยายศักยภาพ การขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวอีกกว่า 14 ล้านตันต่อปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แถลงผลการประชุม กพอ. _หรือ บอร์ดอีอีซี ซึ่งได้รับทราบความคืบหน้าโครงการถมทะเลท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) ไปเจรจากับบริษัทเอกชน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ซึ่งเป็นเอกชนที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติในการร่วมทุนในโครงการดังกล่าวกับภาครัฐ) ให้ลดเงื่อนไขการลงทุนที่จะทำให้รัฐได้ผลตอบแทนมากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายลง

ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า หลังจาก กนอ. ได้เจรจากับภาคเอกชนจนได้ข้อยุติผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR โครงการดังกล่าว ล่าสุดภาคเอกชนยอมลดดอกเบี้ยการกู้เงินเพื่อถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่จากร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 4.38 ส่งผลให้ กนอ. จะได้รับผลตอบแทน FIRR เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 9.14 เป็นร้อยละ 9.21 เป็นเงินผลประโยชน์ที่ กนอ. จะได้รับเพิ่มจากเดิม 6,606 ล้านบาท เพิ่มเป็น 6,721.23 ล้านบาท ขณะที่เอกชนจะได้รับอัตรา FIRR ลดลงจากร้อยละ 10.75 เหลือร้อยละ 10.73 เป็นเงิน 14,298.50 ล้านบาท จากเดิม 14,371 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินที่ กนอ. ต้องจ่ายเพื่อร่วมลงทุนกับเอกชนเหลือเพียง 710 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 720 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปีของโครงการ รวมเป็นเงิน 21,300 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องใช้เงินร่วมทุน 45,480 ล้านบาท

- Advertisment -

หลังจากนี้ กนอ. จะต้องนำผลการเจรจาดังกล่าวนี้ไปรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้เรียบร้อยก่อนนำเสนอ ครม. คาดว่าจะสามารถนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 4 มิ.ย. 2562 จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership – PPP) จะส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาร่างสัญญาให้แล้วเสร็จ ภายใน 19 มิ.ย.นี้ และนำเสนอที่ประชุม กพอ. เห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญา ภายในวันที่ 22 มิ.ย. ก่อนเสนอต่อ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกได้ภายใน 9 ก.ค. คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง กนอ. กับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ ภายในเดือน ก.ค.นี้

ผังโครงการมาบตาพุด ระยะที่ 3

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด    ต. มาบตาพุด อ. เมืองระยอง จ. ระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงที่ 1 เป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วย การขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ โดยภาคเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากที่ทำการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

สำหรับการพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุดระยะที่3 ในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ (Superstructure) จะดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลว เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC รายงานว่า การพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เมื่อเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทั้ง 2 ระยะ จะเพิ่มศักยภาพการขนถ่าย LNG ได้ถึงราว 14 ล้านตันต่อปี

นอกเหนือจากรับทราบความคืบหน้าโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 แล้ว บอร์ดอีอีซี ยังได้เห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการ 182,524 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ พิจารณาอนุมัติให้ ร.ฟ.ท. ลงนามสัญญากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกคือกลุ่มซีพี คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ตามแผนภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดยเลขาธิการอีอีซี มั่นใจว่าการก่อสร้างโครงการจะแล้วเสร็จภายใน 4 ปี ขณะเดียวกัน กพอ. ยังสั่งการให้ตั้งคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาการอุทธรณ์ของเอกชนผู้ประมูล 2 โครงการ คือ สนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และให้นำกลับมาเสนอที่ประชุม กพอ. อีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้

Advertisment