คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น “โครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ระยะที่ 13 ส่วนที่ 2 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)” ระหว่างวันที่ 13-27 มิ.ย. 2567 นี้ เผยเป็นโครงการปรับปรุงและขยายระบบสถานีไฟฟ้าต้นทาง สถานีย่อย สายส่งพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าของ กฟน. มูลค่าเงินลงทุน 68,783.90 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการปี 2566-2572 กระทบค่าไฟฟ้าเพียง 0.00259 บาทต่อหน่วย ชี้ช่วยพัฒนาระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ (Grid Modernization) ให้รองรับ Disruptive Technology
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนใน “โครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ระยะที่ 13 ส่วนที่ 2 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)” ระหว่างวันที่ 13-27 มิ.ย. 2567 นี้ ซึ่งเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนรวม 68,783.90 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 1,304.1 ล้านบาท) ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ปี 2566-2572
สำหรับโครงการดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ (Grid Modernization) ให้รองรับ Disruptive Technology และตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ กฟน. “Innovation for Smart Living and Growth” ตามแผน Road map Smart Grid โดยจะดำเนินการเพื่อปรับปรุงและขยายระบบสถานีต้นทาง สถานีย่อย สายส่งพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้าของ กฟน. โดยเป็นโครงการที่สอดรับกับแผนงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ดำเนิน “โครงการเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงและเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล”
ทั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการใน กรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ ด้วยวงเงิน 68,783.90 ล้านบาท แบ่งเป็น งานพัฒนาระบบสถานีต้นทางและสถานีไฟฟ้าย่อย 28,439.3 ล้านบาท, งานพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า 34,165.7 ล้านบาท และงานเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายไฟฟ้า 4,874.8 ล้านบาท
สำหรับในส่วนของการพัฒนาสถานีต้นทางของ กฟน. ในโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 2 ของ กฟน. ดังกล่าว ได้ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับโครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 4 (BSB4) ของ กฟผ. ซึ่งโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 2 ของ กฟน. จะก่อสร้างสถานีต้นทาง เพื่อรับไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าของ กฟผ.
โดยโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 2 ของ กฟน. (ในส่วนพัฒนาสถานีต้นทางและสถานีย่อย) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2566-2567 โดยใช้งบประมาณพัฒนาสถานีต้นทาง 3 แห่ง (เฉพาะที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการ BSB4) รวม 5,179 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 68,783.90 ล้านบาท มีขอบเขตการดำเนินงานดังนี้ 1.ก่อสร้างสถานีต้นทาง ราชพฤกษ์ (รับไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าราชพฤกษ์) 2.ก่อสร้างสถานีต้นทางคลองสามวา (รับไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้านิมิตใหม่ กำหนดแล้วเสร็จปี 2570) และ 3. ก่อสร้างสถานีต้นทางสุขสวัสดิ์ (รับไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าสุขสวัสดิ์ กำหนดแล้วเสร็จปี 2571)
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับ “โครงการขยายระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 4 (BSB4)” ของ กฟผ. ที่กำหนดดำเนินโครงการระหว่างปี 2566-2570 ใช้งบประมาณพัฒนาสถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 แห่ง รวม 4,390 ล้านบาท (จากงบประมาณทั้งโครงการ 5,800 ล้านบาท) โดยมีขอบเขตการดำเนินงานดังนี้ 1. ก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 230 KV ราชพฤกษ์ (กำหนดแล้วเสร็จปี 2570) 2. ก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 230 KV นิมิตใหม่ (กำหนดแล้วเสร็จปี 2570) และ 3. ก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 230 KV สุขสวัสดิ์ (กำหนดแล้วเสร็จปี 2570)
อย่างไรก็ตาม กกพ.พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าไม่มาก โดยการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 13 ส่วนที่ 2 ของ กฟน. จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพียง 0.00259 บาทต่อหน่วยเท่านั้น