กกพ. เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน พลังงานลม ก๊าซชีวภาพ โดยไม่ต้องประมูลแข่งราคาพร้อมกำหนดอัตราไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) สำหรับภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพื่อประโยชน์ในการส่งออกสินค้าที่ต้องพิสูจน์ Carbon Tracking โดยให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า พ.ย. – ธ.ค. 2565 ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ ม.ค. 2566 และ ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก พ.ค. – มิ.ย. 2566
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 41/2565 (ครั้งที่ 808) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษาฯ และมีผลบังคับใช้ต่อไป
นอกจากนี้ นายคมกฤช ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ระเบียบดังกล่าวจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงตามมติ กพช. ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm ที่ปริมาณเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ตามเงื่อนไขการสั่งจ่ายไฟฟ้าตามที่ระบุในมติ กพช.
ซึ่งภายหลังจากระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว กกพ. จะออกประกาศรับซื้อโดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการและรายการเอกสารแสดงความพร้อมประกอบการเสนอขายไฟฟ้าในแต่ละประเภทพลังงานหมุนเวียนเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯต่อไป กำหนดการเบื้องต้นของโครงการดังกล่าวมีดังนี้
- ตรวจสอบจุดเชื่อมโยง ต.ค. 2565
- ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า พ.ย. – ธ.ค. 2565
- ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ ม.ค. 2566
- ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก พ.ค. – มิ.ย. 2566
- กำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ปี 2567 – 2573
“กกพ. ยังต่อยอดโดยนำพลังงานไฟฟ้าสีเขียวที่จะผลิตได้จากโครงการ ดังกล่าว มารวมขายในอัตราไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) ให้กับ ภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการที่จะใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพื่อประโยชน์ในการส่งออกสินค้าที่ต้องพิสูจน์ Carbon Tracking จากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้า โดย Green Tariff จะเป็นการ อำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถมีพลังงานสีเขียวไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง เพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และยังลดความยุ่งยากที่จะต้องผลิตพลังงานสีเขียวไว้ใช้เองอีกด้วย” นายคมกฤช กล่าว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center)รายงานว่า สำหรับมติ กพช. 6 พ.ค. 65 ที่เห็นชอบ หลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 มีดังนี้
- รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขนาดกำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ กลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ในรูปแบบสัญญา Non-Firm สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และในรูปแบบสัญญา Partial – Firm สำหรับ Solar+BESS โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบ FiT
2 ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ามีเป้าหมายและกำหนดวัน SCOD ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
3 เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 – 25 ปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนใหม่ รองรับความทันสมัย ของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักร ซึ่งเป็นการคิดระยะเวลาที่ภาครัฐให้การสนับสนุนครอบคลุม Loan Repayment แล้ว
4 กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้หารือร่วมกันโดยมีข้อสรุปว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 จะใช้หลักเกณฑ์ การคัดเลือกที่พิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น ว่าโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะมีความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาโครงการให้สำเร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ได้ตามแผนที่กำหนด ด้วยราคาที่ไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้ประเทศ โดยไม่ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) ซึ่งอาจมีปัญหากรณีที่ผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ได้ทันกำหนดวัน SCOD หรือมีปัญหาไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่เป็นไปตามแผน
โดยมีกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ ดังนี้
1 การพิจารณาด้านราคา โดย กระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท และเป็นราคาที่จะไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องรับและปฏิบัติตามอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนด
2 ด้านคุณสมบัติ จะตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ และวางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามูลค่าตามที่กำหนดโครงการที่ยื่นข้อเสนอต้องเป็นโครงการใหม่และไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านเทคนิคต่อไป
3 ด้านเทคนิค มีการตรวจสอบและให้คะแนนความพร้อมด้านต่าง ๆ อาทิ พื้นที่ เทคโนโลยี เชื้อเพลิง การเงิน ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน เป็นต้น โดยต้องมีคะแนนในแต่ละด้านและคะแนนรวมไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดจึงจะได้รับการพิจารณาจัดเรียงคะแนนด้านเทคนิคเพื่อคัดเลือกต่อไป โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุด คือมีความพร้อมมากที่สุด จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ
4 กรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย ณ จุดเชื่อมโยงเดียวกัน แต่บริเวณดังกล่าวยังไม่สามารถปรับปรุงระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ได้นั้น จะรับซื้อไฟฟ้าเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS และแบบติดตั้งบนพื้นดิน ทั้งนี้ กกพ. จะกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและมีผลสัมฤทธิ์ใกล้เคียงกับเป้าหมายตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม)
5 เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ มีดังนี้ 1 กำหนดให้กรรมสิทธิ์ ในหน่วย Renewable Energy Certificate (REC) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ โดยให้ระบุการครอบครองกรรมสิทธิ์ของภาครัฐไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
2 กรณีที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขหักหลักประกันตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ และ
3 สำหรับเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น
4 อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 แยกตามประเภทเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้ (1) อัตรา FiT กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาดของก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เท่ากับ 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี
(2) พลังงานลม เท่ากับ 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เท่ากับ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา รับซื้อไฟฟ้า 25 ปี และ (4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS กำลังผลิตตามสัญญามากกว่า 10 – 90 เมกะวัตต์ เท่ากับ 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี โดยรูปแบบสัญญา Partial Firm ของแบบ Solar+BESS กำหนดให้มีรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1) ช่วงเวลา 9.00 น. – 16.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณร้อยละ 100 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
2) ช่วงเวลา 18.01 น. – 06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับร้อยละ 60 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง (60% Contracted Capacity * 2 hrs.) โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 3) ช่วงเวลา 06.01 น. – 09.00 น. และ 16.01 น. – 18.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน ร้อยละ 100 ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ทั้งนี้ สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.50 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ