คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กางแผนนำร่องรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์ ปี 2562 โดย 18 มี.ค.-1 เม.ย. 2562 จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชน พร้อมให้โควต้าการไฟฟ้านครหลวงรับซื้อ 30 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 70 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ส่วนวิธีการรับซื้อจะใช้ระบบ ใครยื่นก่อนได้ก่อน(First come First serve) ผ่านระบบ Online ของทั้งสองการไฟฟ้า
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.)กล่าวว่า กกพ. มีแผนการจัดซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน โดยแบ่งเป็น
วันที่ 18 มี.ค.-1 เม.ย. 2562 กกพ.จะเปิดรับฟังความเห็นโซลาร์ภาคประชาชน
ภายในเดือนมี.ค.-เม.ย. 2562 จะจัดประชาสัมพันธ์ชี้แจงการเข้าร่วมโครงการ
ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 2562 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการ
ตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค.2562 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา
ภายใน ต.ค. 2562 ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
และภายในปี 2562 ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)
ทั้งนี้ กกพ.จะนำร่องรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโควต้าของการไฟฟ้านครหลวง 30 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 70 เมกะวัตต์ สำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมโครงการคือ ภาคครัวเรือน ซึ่งหลักเกณฑ์เบื้องต้นประกอบด้วย
1.ผู้ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า ประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย)
2.มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 10 KWp ต่อมิเตอร์
3.การไฟฟ้าจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี
4.ยอดรวมทั้งโครงการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์
และ 5.COD ภายในปี 2562
ส่วนวิธีการรับซื้อจะใช้ระบบ ใครยื่นก่อนได้ก่อน(First come First serve) ผ่านระบบ Online ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ Grid Code ในปัจจุบัน และจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผ่านระบบ Online ของสำนักงาน กกพ.
ในขณะที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและผู้จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ กว่า 30 ราย เกี่ยวกับนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ว่า กระทรวงพลังงานได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมแข่งขันในธุรกิจโซลาร์เซลล์ในไทย เนื่องจากภาครัฐได้กำหนดเพิ่มปริมาณการผลิตโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเป็น 12,725 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 โดยแบ่งเป็นโซลาร์ภาคประชาชน(การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป) จำนวน 10,000 เมะวัตต์ และโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2,725 เมกะวัตต์ ดังนั้นตลาดการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวจะใหญ่ขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมให้พร้อมทั้งเงินลงทุนและบุคลากรการติดตั้งแผง เป็นต้น
นอกจากนี้ภาครัฐต้องการเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เนื่องจากปัจจุบันราคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถูกกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วมาก โดยการส่งเสริมโครงการดังกล่าวจะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานหลักในอนาคตได้ต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมการซื้อขายไฟฟ้า(เทรดดิ้ง)โซลาร์เซลล์ในอนาคตหากมีการผลิตในปริมาณมาก
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะนำร่องรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี ก่อน จากนั้นจะส่งเสริมให้เป็นไปตามแผน PDP 2018 ครบ 10,000 เมกะวัตต์ โดยในวันที่ 20 มี.ค. 2562 นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะประกาศรายละเอียดโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ระยะที่ 1 นำร่อง 100 เมกะวัตต์ในปี 2562 นี้ โดยจะให้ประชาชน ชุมชน ภาคครัวเรือน หรือ ผู้ประกอบการที่ร่วมมือกับชุมชนดำเนินการและแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกัน ก็สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งจะเป็นโครงการที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กกพ. ประเมินเงินลงทุนในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ อยู่ที่ 30,000 บาทต่อกิโลวัตต์ (kWp)