กกพ. หนุนผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ออกระเบียบใหม่ไม่ต้องจัดเวทีรับฟังความเห็น

562
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เปิดรับฟังความเห็น “ร่างระเบียบการรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …” ระหว่าง 5-11 ก.ย. 2567  เน้นให้ความสำคัญผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยทั้งกลุ่มบ้านอยู่อาศัย, องค์กรไม่แสวงหากำไรและกิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร กรณีต้องการขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ช่วยปลดล็อคไม่ต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนอีกต่อไป แค่เปิดรับฟังความเห็นกลุ่มเป้าหมายพื้นที่รัศมีตามขนาดโรงไฟฟ้าและเผยแพร่เท่านั้น หวังลดภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนประชาชนมีส่วนร่วมใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกร่าง “ระเบียบการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ….” โดยได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างระเบียบดังกล่าวระหว่าง 5-11 ก.ย. 2567 นี้ บนเว็บไซด์สำนักงาน กกพ.

โดยร่างระเบียบดังกล่าวระบุว่า การจัดทำร่างระเบียบฯ นี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาด และสนองนโยบายรัฐบาล ที่ได้ผูกพันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065 นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

- Advertisment -

สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบฯ ดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยคือ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย, ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 6 องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือประเภท 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร

โดยกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (ด้วยเทคโนโลยีโฟโตโวลเทอิก) แบบติดตั้งบนหลังคานั้น กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยที่ต้องการขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าไม่ต้องจัดเป็นเวทีรับฟังความเห็นประชาชนอีกต่อไป แต่ให้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่รัศมีตามขนาดของโรงไฟฟ้า และให้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลโครงการและทำความเข้าใจประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียด้วย

อย่างไรก็ตามในกรณีที่โครงการมีอาคารสูงตั้งอยู่ในรัศมี 300 เมตรจากขอบเขตพื้นที่โครงการ จะต้องจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่อาจได้รับผลกระทบจากแสงสะท้อนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ที่ต้องการขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปด้วยเทคโนโลยีโฟโตโวลเทอิก และได้จัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนไปก่อนที่ร่างระเบียบฯ นี้จะประกาศใช้ ก็ให้ดำเนินการรับฟังความเห็นประชาชนต่อจนเสร็จสิ้นตามกฎหมายเดิมต่อไป

Advertisment