กกพ.หนุนทุนวิจัย ววน. พัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน หวังลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอนาคต

562
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ลงนาม MOU ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อสนับสนุนงบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้กับ  ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังาน ลดต้นทุน และต่อยอดใช้ได้จริงในอนาคต พร้อมเร่ง 3 แผนงานรองรับพลังงานแห่งอนาคต ทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์ ดัน ERC Sandbox ระยะที่ 2 ,เตรียมกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับพลังงานสีเขียว และปรับระเบียบเอื้อผลิตไฟฟ้าใช้เอง

วันที่ 18 ก.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณแก่ ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) สำหรับการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดการนำมาใช้ได้จริงและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า หลังจากลงนาม MOU ร่วมกับ สกสว. แล้ว จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบการทำงานต่อไป การลงนามครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง เนื่องจากพลังงานของประเทศหนีไม่พ้นที่ต้องนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเพื่อให้เกิดการแข่งขันในการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำลง และเทคโนโลยีพลังงานจะช่วยพัฒนาด้านพลังงานของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นอีกในหลายด้าน พร้อมกับช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

- Advertisment -

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ. ) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางและยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานของประเทศ” ว่า ปัจจุบัน การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) จากเดิมที่เคยผลิตไฟฟ้าจากหน่วยขนาดใหญ่ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งขนาดเล็กๆ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และราคาพลังงานที่ปรับขึ้น-ลงอย่างรวดเร็วทำให้ระบบโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับทิศทางของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต

โดยเฉพาะในปี 2565 จะเห็นชัดเจนว่าการใช้ไฟฟ้าถูกกระทบจากหลายปัจจัยทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานเกิดความผัวผวนในทิศทางขาขึ้น

ดังนั้นในอนาคตจำเป็นต้องปรับการบริหารจัดการโครงสร้างระบบการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว และรองรับการใช้พลังงานในอนาคต (Future Energy) ที่จะเกิดขึ้นใน 2 รูปแบบ คือ พลังงานหลัก ที่คาดว่า ก๊าซธรรมชาติ จะเป็นคำตอบ และพลังงานในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) โซลาร์เซลล์ และยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นต้น รวมถึงจะต้องมีเทคโนโลยีที่เข้ามาทำหน้าที่เชื่อมต่อและบริหารจัดการการใช้พลังงานต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เรื่องของสมาร์ทกริด บล็อกเชน และการเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจใหม่ เป็นต้น

ฉะนั้นการรับมือกับทิศทางการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต กกพ.ได้เตรียมปรับปรุงกฎเกณฑ์รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน(Energy Transition) ได้แก่

1.สนับสนุนนวัตกรรมพลังงาน (Energy Innovation) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมภายใต้โครงการ ERC Sandbox ซึ่งได้ดำเนินโครงการระยะที่ 1 ไปแล้ว 32 โครงการ และปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการระยะที่ 2 เพื่อทดสอบการใช้พลังงานหมุนเวียน ในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถรักษาการแข่งขันในเวทีโลกได้

2.กำหนดอัตราไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) เพื่ออำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรมและผู้ประสงค์จะใช้พลังงานสีเขียว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาอัตราที่เหมาะสม โดยยอมรับว่า ต้นทุนอาจจะแพงกว่าอัตราไฟฟ้าทั่วไป แต่จะตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานสะอาด

3.ปรับปรุงกฎระเบียบประเภทใบอนุญาต เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เอง(หลังมิเตอร์) รวมทั้งการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์ (แผนปฏิบัติการ) การกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี(2566-2570) ที่จะตอบโจทย์เรื่องของ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition),เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และเรื่องของ Digital Technology

Advertisment