- Advertisment-

กระแส เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive technology” ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมหน้ากิจการไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเราจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกิจการไฟฟ้า ไปสู่การที่ประชาชนลงทุนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น แทนที่จะเป็นผู้ซื้อจากหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐดังที่เคยเป็นมา เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และในอนาคตคาดว่าจะพัฒนาไปสู่การซื้อขายพลังงานภายใต้รูปแบบที่ประชาชนเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย หรือที่เรียกว่า Prosumer เนื่องจากประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตไฟฟ้าได้เองนั้น ต้องการจะขายกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนทั่วไปที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ และยังไม่อนุญาตให้ใช้สายส่งของหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐ ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนกับประชาชน (Peer to Peer)  แต่ประชาชนหรือเอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ โดยจัดการระบบส่งไฟกันเองในพื้นที่ใกล้เคียง จึงเกิดเป็นกิจการไฟฟ้าในรูปแบบ Prosumer ที่ยังอยู่ในวงที่จำกัดในลักษณะ micro grid เนื่องจากยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าของหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐ เพื่อส่งไฟฟ้าข้ามเขตไปยังพื้นที่ห่างไกลออกไปที่ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้า ดังที่กล่าว เพราะยังไม่มีการออกระเบียบหลักเกณฑ์มารองรับและอนุญาตให้ดำเนินการได้

แต่ทิศทางการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการไฟฟ้าไปสู่การเป็น Prosumer ในวงกว้างขึ้นนั้น คาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันไม่ไกลนัก เพราะมีการประเมินว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปร่วมกับระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (energy strorage system) จะมีต้นทุนที่ลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต และจะถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐ  ดังนั้น จึงจะยิ่งจูงใจให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองและขายมากขึ้น

- Advertisment -

จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยพัฒนาบทบาทในการกำกับดูแล เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความคล่องตัว ช่วยส่งเสริมการแข่งขันของกิจการไฟฟ้า และเพิ่มบทบาทของเอกชนในภาคพลังงาน ซึ่งสอดรับกับแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงานของประเทศที่ กกพ. เสนอเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ กกพ. มีเป้าหมายพัฒนาบทบาทการกำกับดูแล ให้ส่งเสริมการแข่งขันของภาคพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถของกิจการพลังงาน นั้น กกพ. เองก็มีบทบาทที่จะต้องกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานด้วย ดังนั้น ในการออกกฎเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม กกพ. จึงอาจต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านทั้งระบบ ก่อนที่จะประกาศออกมา เพื่อให้ระเบียบหลักเกณฑ์ที่จะออกมานั้น เป็นประโยชน์ มีความสมดุล และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน

ปัจจุบัน กกพ. อยู่ระหว่างจัดทำระเบียบเพื่อรองรับการผลิตและการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเข้าระบบ และยังเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งหนึ่งในภารกิจที่ กกพ. กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดเพื่อดำเนินการ คือ การกำหนดอัตราค่าเช่าสายส่ง (wheeling charge) ที่เหมาะสม รวมถึงมีกฎระเบียบและกติกากำกับดูแลการซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประสิทธิภาพของไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทน ซึ่งยังมีความกังวลถึงความไม่เสถียรในการจ่ายไฟฟ้าด้วย

นอกจากนั้น สิ่งที่ควบคู่มากับรูปแบบกิจการไฟฟ้าแบบ Prosumer คือแนวโน้มการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Peer-to-Peer โดยปัจจุบันมีการนำระบบ Blockchain มาใช้อย่างแพร่หลายแล้วในต่างประเทศ และสำหรับประเทศไทย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ บีซีพีจี ก็ได้จัดทำโครงการทดลองนำ Blockchain Technology มาใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  ในพื้นที่ Sansiri Town Sukhumvit 77 โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 635 กิโลวัตต์ ซึ่งได้เริ่มแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อประหว่างผู้บริโภคภายในชุมชนแล้ว

สำหรับเทคโนโลยี Blockchain ในกิจการไฟฟ้านั้น เป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีโปรแกรมสมัยใหม่มาช่วยให้การคิดคำนวณการซื้อขายไฟฟ้าของ prosumer ทำได้ง่ายขึ้น โดยจะเป็นระบบบัญชีว่าแต่ละรายขายไฟฟ้าไปเท่าไหร่ และซื้อไฟฟ้าเข้ามาใช้เท่าไหร่ ซึ่งจะสามารถหักลบบัญชีโดยอัตโนมัติ พร้อมๆกันทีเดียวหลายๆราย  ทั้งนี้ ระบบ Blockchain นั้นจะต้องใช้ควบคู่กับระบบ smart meter  และ smart grid สำหรับในเรื่องเทคโนโลยี Blockchain นี้ กกพ. ได้ติดตามดูและอัพเดททิศทางของเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา และเตรียมการออกแบบ application ต่างๆ เพื่อรองรับรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ Blockchain ในอนาคต

ขณะเดียวกัน กกพ. อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนการกำกับกิจการพลังงานของประเทศระยะต่อไป ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของภาคพลังงาน และแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานด้วย อย่างไรก็ตาม การออกกติกาใหม่ๆ ยังต้องใช้เวลาวิเคราะห์รายละเอียด และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ โฟกัสกรุ๊ป ตามรัฐธรรมนูญด้วย

Advertisment