กกพ.มีมติใช้เงิน Claw Back จาก 3 การไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟ 22 ล้านครัวเรือน 2.3 หมื่นล้าน

2183
- Advertisment-

“กกพ.” เห็นชอบ ใช้เงินที่ส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน (Claw Back)จาก กฟผ. กฟน.และ PEA บวกเงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน มาใช้  เยียวยาผลกระทบจาก “โควิด-19” ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย รวม 22 ล้านครัวเรือน ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับทราบข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินรวมประมาณ  23,688 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะ โฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2563 มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม

โดย กกพ. ได้หารือร่วมกับสามการไฟฟ้า ประกอบด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA ) เพื่อประเมินผลกระทบ และภาระทางการเงิน  ซึ่งจะบริหารกระแสเงินสดให้เพียงพอกับการใช้เงินในช่วงเวลาดังกล่าวให้เป็นไปตามมติ ครม.ได้  โดยยอดเงินที่ขาดเกินจากการใช้จริงจะถูกนำมาเกลี่ยรวมกับการกำกับฐานะการเงินและการกำกับแผนการลงทุนของทั้งสามการไฟฟ้าในปี 2563 เพิ่มเติม

- Advertisment -

โดยแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาสนับสนุน  จะมาจากเงินบริหารค่าไฟฟ้าที่รวบรวมได้จากการกำกับฐานะการเงิน เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน  เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า  สำหรับเงินตามมาตรา 97 (1) ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 นั้น กฏหมายระบุไว้ว่าเป็นเงินกองทุนที่ให้ใช้จ่ายเพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือเพื่อให้มีการบริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

ทั้งนี้การที่ กกพ.พิจารณาแล้วว่าการนำเงินตามมาตรา 97 (1) มาใช้ ในการเยียวยาครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ โดยไม่ขัดต่อข้อกฏหมาย อาจจะมีปัญหาตามว่า  กกพ.จะไม่มีเงินเหลือพยุงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ในกรณีที่ค่าเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ในอนาคต

Advertisment