กกพ.พร้อมปรับแผนเร่งนำเข้าLNG เสริมความมั่นคง ยอมรับไทยมีความเสี่ยงขาดก๊าซผลิตไฟฟ้าจากปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณซึ่งผลิตก๊าซได้น้อยและต้องนำเข้าLNGมาทดแทนมากขึ้น ในขณะที่ยังมีกรณีแหล่งก๊าซฯ ซอติก้าที่หยุดจ่ายก๊าซนอกแผนมาซ้ำเติมสถานการณ์ ในขณะที่ปลัดกระทรวงพลังงานพร้อมบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรม
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ได้หารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อปรับแผนรองรับกรณีเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ โดยได้ปรับแผนให้ ปตท. นำเข้าLNG ในเดือนกันยายนมาเพิ่มแล้ว แต่การนำเข้าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 40 วันกว่าเรือขนส่งก๊าซฯ จะเข้ามาถึงไทย
อย่างไรก็ตาม กกพ. ยังเชื่อว่าสถานการณ์ ของเดือนสิงหาคมจะไม่ถึงขั้นที่ต้องเวียนดับไฟฟ้า หรือ Partial Blackout โดยเมื่อแหล่งซอติก้ากลับมาผลิตและส่งก๊าซฯ ได้ตามปกติในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า สถานการณ์น่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แหล่งข่าว กล่าวยอมรับว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการมีก๊าซฯ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ เนื่องจากแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ผลิตได้น้อยลง หลังจากช่วงเปลี่ยนผ่านระบบจากผู้รับสัมปทานเดิมมาเป็นรายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต นับตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มาทดแทน แต่เนื่องจากราคา LNG และราคาดีเซลตลาดโลกมีราคาขยับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า กกพ. จึงต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้มีผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดโดยสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนที่ต่ำสุดให้ได้เต็มที่ก่อน
โดย กกพ. ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไปจนกว่าก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ หรือ G1/61 จะกลับมาผลิตได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ซึ่งระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาการซ้อมแผนรองรับวิกฤติกรณีก๊าซฯ ขาดแคลน
ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยวันนี้ (4 สิงหาคม 2565) ว่า จากกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องของท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้าในเมียนเข้ามาสู่ประเทศไทย และมีข้อห่วงใยต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ ในการบริหารเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป รวมถึงผลกระทบด้านต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ทางกระทรวงพลังงานได้ร่วมดำเนินการกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในการจัดทำแผนการบริหารเพื่อจัดหาเชื้อเพลิงล่วงหน้าโดยภายหลังได้รับรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์พร้อมเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ความเห็นชอบในทันที
ในสถานการณ์ ณ ปัจจุบันได้บริหารจัดการโดยการจัดส่งก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออกมาทดแทนก๊าซในภาคตะวันตก
พร้อมทั้งได้วางแผนในการนำเข้า LNG รวมทั้งใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามความเหมาะสมทั้งด้านประเภทโรงไฟฟ้าและราคาเชื้อเพลิงโดยมีประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานมาเป็นอันดับแรก และบริหารต้นทุนเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด โดยประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการสามารถมั่นใจในความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศได้
“จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายสำคัญที่เน้นย้ำให้หน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบ คือ ประเทศไทยจะต้องไม่เกิดไฟฟ้าดับ กระทรวงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่บริหารแผนจัดหาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้มีความต่อเนื่องและมั่นคงโดยมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในการบริหารระบบไฟฟ้าและจัดการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ นำเข้า LNG และจัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) เร่งซ่อมแซมท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เกิดอุบัติเหตุพร้อมป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้กำกับให้ผู้รับสัญญาในแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศมิให้มีการหยุดซ่อมบำรุงในกรณีที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลานี้ ส่วนกรมธุรกิจพลังงานก็ดูแลการจัดหาและสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความมั่นคง
ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า กระทรวงพลังงาน จะเร่งดำเนินการทุกมาตรการ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ขอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน และขอความร่วมมือประชาชนในการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้ ก็จะสามารถลดการนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าก็จะถูกลงและจะลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ ” นายกุลิศ กล่าว