กกพ.ตั้งเงื่อนไข12ข้อก่อนเห็นชอบGPSCควบรวมGLOW

2071
- Advertisment-

กกพ. ตั้งเงื่อนไข12ข้อก่อนมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้ “GPSC”ควบรวมกิจการ “GLOW ” ได้ โดยเงื่อนไข1ข้อให้ดำเนินการ ก่อนการควบรวมคือต้องขาย บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด  ส่วน อีก11ข้อให้ดำเนินการหลังการควบรวม เพื่อสร้างความมั่นใจ เป็นธรรม และโปร่งใสให้กับกลุ่มลูกค้าเดิม

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ซึ่งประชุมวันที่ 26ธ.ค.2561 มีมติเห็นชอบในหลักการให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ควบรวมกิจการกับ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)หรือ GLOW ได้เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการรวมกิจการที่มีลักษณะก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือ จำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม กกพ.ได้กำหนดเงื่อนไข จำนวน12ข้อ โดยเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนการรวมกิจการให้แก่ บริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 ข้อ คือ ให้บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ขายกิจการของบริษัทโกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ให้แล้วเสร็จก่อนหรือเวลาเดียวกันกับการดำเนินการรวมกิจการกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -

และกำหนดเงื่อนไขบังคับหลังการรวมกิจการโดยกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้รับใบอนุญาต บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) อีกจำนวน 11 ข้อ และผู้รับใบอนุญาตบริษัทในเครือได้แก่ 1) บริษัท โกลว์ เอสพีพี 11 จำกัด 2) บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด (จำนวน 2 ฉบับ) และ 3) บริษัท โกลว์ เอสพีพี 3 จำกัด รายละจำนวน 10 ข้อ รวมจำนวน 4 ราย 5 ฉบับ ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวจะมีการทบทวนหรือประเมินผลโดยคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย กกพ. เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับเงื่อนไขแนบท้ายสัญญา จำนวน 11 ข้อ ประกอบด้วย
1) การอำนวยความสะดวกกรณีลูกค้าเดิมเปลี่ยนผู้ให้บริการไฟฟ้า – ลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมผาแดงประสงค์จะซื้อไฟฟ้าจากแหล่งอื่น หรือผู้ให้บริการรายอื่นเพิ่มเติม ผู้รับใบอนุญาตจะรับผิดชอบดำเนินการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากแหล่งอื่น หรือผู้ให้บริการรายอื่นให้ รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
2) การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ-หากผู้รับใบอนุญาตเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นในการรวมกิจการ ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนอย่างเคร่งครัด
3) การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ – ผู้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการโดยใช้หลัก
ธรรมาภิบาล และห้ามแต่งตั้งกรรมการบริหารผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลหรือมีอำนาจควบคุมนโยบายและบริหารจัดการกิจการซึ่งเป็นกรรมการผู้บริหาร พนักงาน หรือที่ปรึกษาของบริษัทหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจหรือกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
4) การให้บริการอย่างมีมาตรฐานและไม่เลือกปฏิบัติ – ผู้รับใบอนุญาตต้องให้บริการด้านพลังงานและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย โดยไม่เลือกปฏิบัติ และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนด เงื่อนไข และมาตรฐานของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสัญญาให้บริการไฟฟ้าที่มีผลใช้บังคับอยู่อย่างเคร่งครัด เว้นแต่ข้อกำหนดใดในสัญญามีมาตรฐานต่ำกว่าที่ประกาศ กกพ. เรื่อง มาตราของสัญญาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ให้ดำเนินตามข้อกำหนดในบทเฉพาะกาลในประกาศดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
5) การพิจารณาให้สิทธิในการพิจารณาต่อสัญญาหรือขยายเวลาสัญญาแก่ลูกค้ารายเดิมก่อน 3 ปี ผู้รับใบอนุญาตต้องพิจารณาให้สิทธิ์ลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิมที่มีความประสงค์จะต่ออายุหรือขยายระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสัญญาให้บริการไฟฟ้าเป็นลำดับแรกบนฐานที่ว่าผู้ใดเสนอขอมาก่อนมีสิทธิก่อน โดยให้มีการตกลงสรุปผลของการพิจารณาต่ออายุสัญญาฉบับเดิมสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อให้ลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้น และไม่ปฏิเสธการให้ต่ออายุสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร รวมถึงไม่การกระทำหรือพฤติกรรมลักษณะที่เป็นการกีดกัน จำกัดทางเลือกในการให้บริการหรือรับบริการ หรือกำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยตรงหรือโดยอ้อมกับลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องยึดถือและปฏิบัติตามประกาศ กกพ. เรื่อง มาตราของสัญญาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด
6) โครงสร้างอัตราค่าบริการมีความเป็นธรรม – กรณีมีการขยายระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่การกำหนดโครงสร้างอัตราการให้บริการพลังงานในสัญญาต้องเป็นไปตามราคาตลาด โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีเหตุผลอันสมควร
7) การผลิตและจัดหาไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอมีมาตรฐาน – ผู้รับใบอนุญาตต้องไม่ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการและการจำหน่ายพลังงานให้ลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้รับบริการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถจัดหาไฟฟ้ามาจำหน่ายได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดสรรปริมาณการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าทุกรายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงมาตรฐาน ความปลอดภัยและข้อจำกัดของระบบไฟฟ้าด้วย
8) การรักษาความลับข้อมูลทางธุรกิจให้กับลูกค้า – ผู้รับใบอนุญาตต้องรักษาความลับของข้อมูลโดยไม่นำข้อมูลที่ได้รับจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้รับบริการไปใช้เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมรวมถึง ไม่เปิดเผยรายละเอียดของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของลูกค้าแต่ละรายให้แก่ผู้อื่นโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคู่สัญญาก่อน
9) การสนับสนุนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ – ผู้รับใบอนุญาตต้องยึดถือและปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติหน้าที่กรรมการของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ในกรณีที่มีส่วนได้เสียหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ได้นำเสนอต่อ กกพ. ไว้อย่างเคร่งครัด ตามหนังสือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่ 10000000/342/61 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2561
10) การบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการร้องเรียนหรือฝ่าฝืนเงื่อนไขสัญญา – ในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้รับบริการหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้รับใบอนุญาตมีการกระทำหรือพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันและส่งผลกระทบต่อการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน รวมถึงเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในการให้บริการในกิจการพลังงาน คณะกรรมการอาจมีคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการ หรือ งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเพื่อแก้ไขหรือมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือ จำกัดการแข่งขัน และ
11) ในกรณีที่การกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุที่ทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการในกิจการพลังงานตามข้อ 10) สิ้นสุดลงแล้ว ผู้รับใบอนุญาตอาจต้องร้องขอให้คณะกรรมการระงับ ยกเว้น หรือปรับปรุงมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้ พร้อมแสดงเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ กกพ. เห็นว่าการรวมกิจการนี้จะก่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในการให้บริการแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและบริการของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น เสริมสร้างประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในกระบวนการผลิตไฟฟ้าสูงสุด

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ที่กกพ. ไม่อนุมัติและยกคำอุทธรณ์ ของGPSC ด้วยเห็นว่าข้อเสนอยังคงมีผลต่อการลดการแข่งขันในบางพื้นที่ ภายหลังจากที่ได้มีการปรับโครงสร้างทางธุรกรรม และยื่นเรื่องขออนุญาตเข้ามาอีกรอบหนึ่ง แต่ก็ยังขาดความชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาลดการแข่งขัน ตามมติและข้อห่วงใยเดิมของ กกพ.

Advertisment