กกพ. ชุดใหม่ ใช้เวลาทำงานเพียงเดือนเดียว มีมติเป็นเอกฉันท์ ห้าม “จีพีเอสซี”เข้า ซื้อหุ้น “โกลว์” ที่มีมูลค่าของดีลครั้งนี้สูงถึง 97,560 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเข้าข่ายลดการแข่งขัน ขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550
หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชุดใหม่ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 14ก.ย. 2561 ทำงานเกือบครบ1เดือน ก็มีมติ เป็นเอกฉันท์ ไม่อนุมัติคำขอเพื่อรวมกิจการ ในการเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (จีพีเอสซี) จากกลุ่ม Engie Global Developments B.V. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 69.11% ราคาหุ้นละ 96.5 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 97,560 ล้านบาท ในบริษัทโกลว์ พลังงาน (โกลว์) โดย นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวส่งผลต่อการลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยการพิจารณาของ กกพ. เป็นการพิจารณาที่ตระหนักถึง การสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาในระยะยาว
“กกพ. มีมติเป็นเอกฉันท์ และไม่อนุญาตให้ จีพีเอสซีในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้รับอนุญาต ซึ่งก่อนหน้าได้ยื่นขออนุญาตต่อ กกพ. เพื่อขอเข้ารวมกิจการกับ โกลว์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารับอนุญาตภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ หลังจาก กกพ. พิจารณาแล้วพบว่า การรวมกิจการดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมในบางพื้นที่ จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียว จึงเป็นการลดการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่การให้บริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ตาม และ กกพ.เชื่อมั่นว่า มติที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีและถูกต้องในระยะยาวด้วย ” นางสาวนฤภัทร กล่าว
นางสาวนฤภัทร กล่าวว่า กกพ. ยังมีการพิจารณาในประเด็นของ บางพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งผู้รับบริการอาจมีทางเลือกในการรับบริการจากผู้ประกอบการรายอื่น ได้แก่ กฟภ. และอาจจะทำให้ลดการแข่งขัน ก็พบว่า การให้บริการของ กฟภ. ก็ไม่สามารถทดแทนการให้บริการของลูกค้ากลุ่ม โกลว์ ได้ เนื่องจากเหตุผลทางคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องการความมีเสถียรภาพ รวมทั้ง กฟภ. ยังต้องจำหน่ายไฟฟ้าในราคาเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ทำให้ไม่สามารถให้อัตราส่วนลดกับผู้รับบริการได้ ส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันดังกล่าว
ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 60 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้ กกพ. มีอำนาจในการออกระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อมิให้มีการกระทำการใดใด อันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน และกรณีของ จีพีเอสซี ซึ่งเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของโกลว์ จึงเป็นการรวมกิจการ เข้าเงื่อนไขของการที่ผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งเข้าครอบงำผู้รับอนุญาตอีก รายหนึ่งซึ่งไม่สามารถทำได้ เว้นแต่จะขออนุญาตต่อ กกพ. เพื่อให้พิจารณาเหตุผล และความจำเป็นที่เพียงพอ หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือผู้ใช้พลังงาน
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กกพ. จะได้แจ้งคำสั่งไม่อนุญาตไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ตามระเบียบ และจัดทำกรอบหลักการในการพิจารณาเรื่องรวมกิจการตามแนวทางข้างต้น เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ จีพีเอสซี เคยให้เหตุผลถึงการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) ว่าจะเกิดความคุ้มค่า เนื่องจากพิจารณาแล้วพบว่า โรงไฟฟ้าของ GLOW มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าสูงในระดับประเทศ แม้จะเป็นโรงไฟฟ้าเก่าหลายโรง แต่มีการดูแลอุปกรณ์เป็นอย่างดี รวมทั้งประเมินแล้วพบว่าเครื่องผลิตไฟฟ้ายังมีอายุเฉลี่ยเหลือไม่ต่ำกว่า 10 ปี หลังจากหมดสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งสามารถขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัทฯ ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะโรงงานด้านปิโตรเคมีในภาคตะวันออก สำหรับรองรับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อไฟฟ้ามีความมั่นคงจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น
โดยในขั้นตอนของการดำเนินการในการเข้าซื้อหุ้นของ GLOW นั้น จีพีเอสซี ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหุ้นกับกลุ่ม Engie Global Developments B.V.ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561 และเคยประเมินว่า ดีลการซื้อหุ้นในสัดส่วน 69.11% ราคาหุ้นละ 96.5 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 97,560 ล้านบาท ครั้งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสแรกปี2562 แต่ก็มาถูก กกพ.ชุดใหม่ มีมติห้ามเข้าซื้อกิจการ และมีการออกเอกสารข่าว ในวันที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมามอบนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูงของปตท. ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของจีพีเอสซี