กกพ.จับตากรณีโททาลถอนตัวแหล่งก๊าซยาดานา กระทบค่าไฟ รอ ปตท.สผ.ทำหนังสือชี้แจง

851
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จับตาประเด็นโททาลถอนตัวร่วมทุนแหล่งก๊าซยาดานา ในเมียนมา รอ ปตท.สผ.ทำหนังสือชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหา หวั่นกระทบค่าไฟฟ้าหากต้องนำเข้า LNG ทดแทน

จากกรณีที่บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ได้ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการยาดานา และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซจากโครงการฯ ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยที่ทางโททาลฯ จะยังคงเป็นผู้ดำเนินการในโครงการต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานไปยังผู้ดำเนินการใหม่นั้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชนให้มีความเป็นธรรม ให้ความเห็นว่า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่ได้รับรายงานจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ว่าการถอนตัวของผู้ร่วมทุนดังกล่าว จะกระทบต่อปริมาณก๊าซที่จัดส่งมายังประเทศไทย หรือไม่
โดยเพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงต้องรอให้ทาง ปตท.สผ.ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดมายัง กกพ.อย่างเป็นทางการ เพื่อที่ภาครัฐจะได้มีการเตรียมความพร้อมหากกรณีก๊าซฯจากแหล่งยาดานาผลิตได้ไม่ต่อเนื่องตามสัญญา

- Advertisment -

โดยจากการติดตามข่าวจากสื่อมวลชนที่ทางโททาลฯระบุว่าจะดำเนินการในโครงการยาดานาต่อไปอีกเพียง 6 เดือนเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการผลิตก๊าซฯนั้น มองว่าทาง ปตท.สผ.จะต้องวางแผนจัดหาก๊าซฯมาให้ได้ตามสัญญา และ ปตท.สผ.ต้องรายงานแนวทางแก้ไขปัญหามายัง กกพ.ให้รับทราบด้วย

โดยหากมีกรณีที่แหล่งยาดานาไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญา ทาง ปตท.สผ.อาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาทดแทนก่อน และในกรณีที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถหาก๊าซฯมาทดแทนได้ ทาง กกพ.จะเข้ามาบริหารจัดการในด้านระบบการผลิตไฟฟ้าในการเตรียมพร้อมสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอื่นมาทดแทน รวมทั้งพิจารณาการซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวไปก่อน เนื่องจากมีราคาถูกและมีความเสถียรมากกว่าเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนตัวอื่น

สำหรับประเด็นที่ประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า นั้น นายคมกฤช กล่าวว่า จะต้องพิจารณากันในหลายมิติ ทั้งด้านกรณีนำเข้า LNG แทน หรือกรณีสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทอื่น หรือการใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทน ซึ่ง กกพ.ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบด้านราคาโดยตรงได้ในขณะนี้ รวมทั้งประเด็นที่ใครควรจะแบกรับภาระส่วนนี้ด้วย

ทั้งนี้หากต้องนำเข้า LNG มาทดแทนก๊าซจากแหล่งยาดานา ราคาค่าไฟฟ้าก็อาจสูงขึ้นตามราคา LNG โลก ซึ่งแนวทางที่ กกพ.จะดำเนินการมาตลอดเพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในคราวเดียวคือ การเฉลี่ยค่าไฟฟ้าในอนาคต

นายคมกฤช กล่าวด้วยว่าก๊าซจากแหล่งผลิตในเมียนมาที่เข้ามายังไทยนั้น ในอนาคตมีแนวโน้มที่ปริมาณจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งผู้พัฒนาแหล่งก๊าซฯ ควรจะต้องแจ้งเตือนให้ภาครัฐรับทราบล่วงหน้าประมาณ 1-2 ปี เพื่อให้สามารถวางแผนบริหารจัดการเตรียมเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนได้ทัน โดยหากแจ้งระยะสั้นจะทำให้ต้องจัดซื้อ LNG แบบเร่งด่วน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ก๊าซฯจากเมียนมานั้นยังมีเพียงพอสำหรับส่งมายังไทยได้ตามสัญญา แต่ในอนาคตก็ต้องเตรียมแผนรองรับปริมาณก๊าซฯที่จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center​ -​ENC )​ รายงานว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ได้มีคำชี้แจงฉบับที่2 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2565 ว่า ปตท.สผ. ได้รับจดหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ที่ถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการยาดานา และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) แล้ว โดยโททาลฯจะยังคงเป็นผู้ดำเนินการในโครงการต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานไปยังผู้ดำเนินการใหม่

สำหรับโครงการยาดานานั้นมีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2564 ประมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยส่งก๊าซฯ ให้กับประเทศไทยประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 10-15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทย

ขณะที่อีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศเมียนมา และคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา

ทั้งนี้โครงการยาดานา และบริษัท MGTC มีผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ถือสัดส่วนการลงทุน 31.2375% บริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ 28.2625% บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. 25.5% และบริษัท เมียนมา ออยล์ แอนด์ แก๊ซ เอ็นเตอร์ไพรส์ (MOGE) 15%

Advertisment