กกพ.จัดสรรงบ 95 ล้านให้โรงเรียนห่างไกลไฟฟ้า ยื่นขอติดตั้งโซลา​ร์เซลล์

1296
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดสรรวงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า วงเงินรวม 95 ล้านบาทให้กับหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งเป้า 166 แห่ง สำหรับติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เน้นพื้นที่ห่างไกลระบบสายส่งไฟฟ้าเป็นหลัก โดยเปิดรับถึง 30 ธ.ค. 2564 นี้ อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่คุ้มค่าและจะกลายเป็นภาระในการซ่อมบำรุงเพราะระบบอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานที่จำกัด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้เปิดโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบมุ่งเป้า สำหรับงานด้านการศึกษา ประจำปี 2564 หลังจากได้เปิดโครงการดังกล่าวสำหรับกลุ่มหน่วยงานด้านสาธารณสุขไปก่อนหน้านี้แล้ว

โดยโครงการฯสำหรับงานด้านการศึกษานี้ จะใช้วงเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาสนับสนุนประมาณ 95 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดรับข้อเสนอโครงการที่จะขอรับการจัดสรรเงินจนถึง 30 ธ.ค. 2564 นี้เท่านั้น

- Advertisment -

ผู้มีสิทธิ์ยื่นขอรับการจัดสรรเงินกองทุนฯ ได้แก่ หน่วยงานรัฐ,สถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีประสบการณ์ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 2 ปี

ทั้งนี้ในหลักเกณฑ์การพิจารณาจะเน้นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลไฟฟ้า (Off-grid) ซึ่งกำหนดโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ห่างไกลระบบสายส่งไฟฟ้า จำนวน 166 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มสำรวจพร้อมติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดงบประมาณไม่เกิน 16.5 ล้านบาทต่อผู้มีสิทธิ์ยื่นโครงการ ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนที่ไม่มีระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 19 แห่ง และโรงเรียนที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี และอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย จำนวน 100 โรงเรียน

และ 2. กลุ่มสำรวจและออกแบบปรับปรุงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดงบประมาณไม่เกิน 30,000 บาทต่อโรงเรียน ซึ่งกำหนดเป้าจัดสรร 47 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 5 แต่ไม่เกิน 10 ปี และอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย

ส่วนหลักเกณฑ์การออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดตามจำนวนนักเรียนดังนี้ 1.จำนวนนักเรียนไม่เกิน 25 คน มีค่าสำรวจ ออกแบบและติดตั้งไม่เกิน 565,985 บาทต่อระบบ กำลังผลิตติดตั้งไม่ต่ำกว่า 3 kwp และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไม่ต่ำกว่า 9 กิโลวัตต์ชั่วโมง 2.จำนวนนักเรียนระหว่าง 26-65 คน มีค่าสำรวจ ออกแบบและติดตั้งไม่เกิน 747,162 บาทต่อระบบ กำลังผลิตติดตั้งไม่ต่ำกว่า 4.4 kwp และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไม่ต่ำกว่า 16 กิโลวัตต์ชั่วโมง

3.จำนวนนักเรียนระหว่าง 66-120 คน มีค่าสำรวจ ออกแบบและติดตั้งไม่เกิน 1,000,851 บาทต่อระบบ กำลังผลิตติดตั้งไม่ต่ำกว่า 6.2 kwp และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไม่ต่ำกว่า 24 กิโลวัตต์ชั่วโมง และ 4. จำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป มีค่าสำรวจ ออกแบบและติดตั้งไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อระบบ ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบระบบฯ ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียน

ผู้ขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในโครงการนี้ต้องมีรายชื่ออยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ กกพ.ประกาศ และสมัครร่วมโครงการได้ถึง 30 ธ.ค. 2564 โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ กกพ.ที่ www.erc.or.th

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีการตั้งข้อสังเกตถึงความคุ้มค่าของวงเงินที่จะไปติดตั้งหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ในโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อย แทนที่จะสร้างการมีส่วนร่วมให้คนทั้งชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้นจากระบบไฟฟ้าโซลา​ร์เซลล์​

ในขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องของความยั่งยืน เพราะไฟฟ้าจากโซลา​ร์เซลล์​นั้นต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์​และระบบแบตเตอรี่ ที่มีอายุการใช้งานเพียง2-5ปี ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ รวมทั้งประเด็นของบทบาทหน้าที่ที่ทับซ้อนกันระหว่างโครงการของ กกพ.และโครงการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์​พลังงาน หรือ พพ. ที่มีโครงการในลักษณะเดียวกันและเน้นพื้นที่ห่างไกลไฟฟ้าเหมือนกัน

Advertisment