กกพ.งัดมาตรา 57 เปิดทาง กฟผ. และปตท.นำเข้า LNG โควต้าปี 64 แทน Shipper เอกชน

906
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บังคับใช้มาตรา 57 ภายใต้พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 เปิดทางให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG โควต้า ปี 2564 ปริมาณ 4.8 แสนตัน แทน Shipper เอกชนรายใหม่ ที่ไม่ยอมนำเข้าตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซของรัฐ เนื่องจาก Spot LNG​ มีราคาขยับสูง เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ ทำให้ภาระต้นทุนที่ควรจะเป็นของShipper เอกชน ถูกผลักไปให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับแทน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า โควต้านำเข้า LNG ของปี 2564 ปริมาณ 4.8 แสนตันนั้น ถูกจัดสรรไว้ให้ ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ หรือ Shipper รายใหม่ ที่เป็นเอกชนได้สิทธิ์เป็นผู้นำเข้า ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.และ 4 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า Shipper เอกชนรายใหม่ ไม่มีรายใดแจ้งความประสงค์จะนำเข้าLNG ตามโควต้าปี64ดังกล่าว เนื่องจาก ราคา LNG ขยับขึ้นสูงกว่า ราคา Pool Gas​ ที่ซื้อได้จาก ปตท. หาก Shipper นำLNG เข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองก็จะต้องเป็นผู้รับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเองด้วย โดย กกพ.เองก็ไม่ได้มีกฏระเบียบหลักเกณฑ์ ที่จะบังคับให้ Shipper เอกชน ต้องดำเนินการตามนโยบายที่ออกมาได้

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าจนกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ทางกกพ. จึงต้องบังคับใช้ กฏหมายการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ในมาตรา 57 เพื่อให้ กฟผ. และ ปตท. เป็นผู้นำเข้า LNG ในโควต้า ปี 64 แทน โดยในส่วนของ กฟผ.จะนำเข้ารวมปริมาณ 3.6 แสนตัน ซึ่ง 2.4 แสนตัน มีการนำเข้ามาในเดือน ก.ย.และต.ค. แบ่งเป็น 4 ลำเรือ และเดือน พ.ย.-ธ.ค. อีก 2 ลำเรือ ลำเรือละ 6 หมื่นตัน ส่วน ปตท. จะนำเข้าในปริมาณ 1.2 แสนตัน ในช่วง เดือน พ.ย.และ ธ.ค. จำนวน 2 ลำเรือ ลำเรือละ 6 หมื่นตัน เช่นเดียวกัน

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปัจจุบันราคา Spot LNG ปรับตัวขึ้นมาสูงมาก จากที่ราคาเฉลี่ยเมื่อเดือน พ.ค.64 อยู่ที่ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู ขยับขึ้นมาเป็นประมาณ 57 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียูในปัจจุบัน ทั้งนี้การที่ภาครัฐไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ทั้ง กฟผ.และ ปตท. มีเวลามากพอในการเจรจาซื้อ Spot LNG ทำให้การซื้อ Spot LNG เพื่อใช้ในเดือน พ.ย.และ ธ.ค. 64 จะได้ LNG ในราคาที่แพง

ทั้งนี้การที่ กฟผ.และ ปตท. ต้องมานำเข้า Spot LNG ในโควต้าปี 64 แทน Shipper เอกชน ทำให้ ภาระต้นทุนLNG ที่เพิ่มขึ้น ถูกผลักไปอยู่ในค่าไฟฟ้าส่วนของต้นทุนผันแปร หรือ เอฟที ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้รับภาระ แทนที่ภาระดังกล่าว Shipper รายใหม่ควรจะต้องเป็นผู้รับไว้ ตามนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซระยะที่ 2 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว

สำหรับสถานการณ์ที่ราคา Spot LNG ขยับขึ้นสูงถึง 57 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ทาง กกพ. พยายามที่จะดูแลราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วงนี้ โดยให้ กฟผ. ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าบางแห่งแล้ว เพื่อหันไปใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าแทน เช่น โรงไฟฟ้าบางปะกง ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม รวมถึงโรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมอื่นๆ ที่สามารถปรับไปใช้น้ำมันแทนได้ เนื่องจากพบว่าการใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าราคา Spot LNG ในขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

สาระสำคัญของ มาตรา 57 ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ระบุว่า ในกรณีที่อาจเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าเป็น
ครั้งคราว หรือกรณีจําเป็นที่ต้องสํารองเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ
คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอํานาจออกคําสั่งให้
ผู้รับใบอนุญาตเพิ่มหรือลดการผลิตหรือการจําหน่ายไฟฟ้าได้ในกรณีเกิดการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งคราว และเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของประเทศ ให้คณะกรรมการมีอํานาจออกคําสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นผู้
จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติดําเนินการเจรจากับผู้ขายก๊าซธรรมชาติ เพื่อหาแนวทางเพิ่มปริมาณการผลิตและจัดหาก๊าซธรรมชาติ
และให้รายงานผลการดําเนินการต่อคณะกรรมการ

Advertisment