กกพ.กำหนดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวล็อตใหญ่ 5,203 เมกะวัตต์ พ.ย.-ธ.ค. 65

6902
ขอบคุณภาพจาก กฟผ.
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 รวมปริมาณรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ จากก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์ ,ลม 1,500 เมกะวัตต์ ,แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ เตรียมเปิดรับซื้อจริงช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ระบุจะรวบรวมเป็นไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขายให้กับโรงงานที่ต้องการพร้อมออกใบรับรองให้ ในราคาพรีเมียม และนำกำไรที่ได้คืนเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสีเขียวอย่างเป็นทางการ คือ“ระเบียบการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” ซึ่งกำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 5,203 เมกะวัตต์

โดยแบ่งเป็น ดังนี้ 1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เปิดรับซื้อรวม 335 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จะเริ่มเฉลี่ยการรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2569-2571 จำนวนปีละ 75 เมกะวัตต์, ปี 2572 จำนวน 70 เมกะวัตต์ และปี 2573 จำนวน 40 เมกะวัตต์

- Advertisment -

2.พลังงานลม เปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,500 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับตั้งแต่ปี 2568-2573 จำนวนปีละ 250 เมกะวัตต์ 3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เปิดรับซื้อรวม 1,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการรับซื้อระหว่างปี 2567-2570 จำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ และปี 2571-2573 จำนวนปีละ 200 เมกะวัตต์

และ 4.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน รับซื้อไฟฟ้ารวม 2,368 เมกะวัตต์  โดยแบ่งการรับซื้อไฟฟ้าดังนี้ ปี 2567 รับซื้อ 190 เมกะวัตต์ , ปี 2568 รับซื้อ 290 เมกะวัตต์, ปี 2569 รับซื้อ 258 เมกะวัตต์, ปี 2570  รับซื้อ 440 เมกะวัตต์, ปี 2571 รับซื้อ 490 เมกะวัตต์, ปี 2572 รับซื้อ 310 เมกะวัตต์, ปี 2573 รับซื้อ 390 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม กกพ.จะเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าได้ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566 และกำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ระหว่างปี 2567-2573 โดย กกพ.จะออกประกาศข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ซึ่งจะมีเงื่อนเวลาที่ชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวทั้งหมด จะเปิดรับซื้อในคราวเดียว โดยผู้สนใจเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบในครั้งนี้จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะเลือกผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงใดและต้องการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปีใด ตามปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ กกพ.ประกาศไว้ดังกล่าว

นายคมกฤช กล่าวว่า การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะรับซื้อในรูปแบบ การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง( FiT) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2565-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)

นอกจากนี้ กกพ. จะรวบรวมปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรอบนี้ ที่เปิดรับซื้ออยู่ 5,203 เมกะวัตต์ มาจัดทำเป็นไฟฟ้าสีเขียว สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อไปเป็นส่วนประกอบยืนยันการผลิตสินค้าที่มาจากพลังงานสะอาด สำหรับการจำหน่ายสินค้าไปต่างประเทศที่มีกฎบังคับให้กระบวนการผลิตสินค้าต้องมีส่วนของพลังงานสะอาด เป็นต้น โดย กกพ. จะออกใบรับรองการใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวให้ด้วย  แต่ราคาจำหน่ายไฟฟ้าจะเป็นราคาพรีเมียม ซึ่งสูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปเล็กน้อย โดยกำไรที่ได้จากการขายไฟฟ้าดังกล่าวจะนำมาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า สำหรับสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าแบบ  FiT จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่  1. สัญญาที่ไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า ( Non-Firm) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย), พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ 

โดย มติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 กำหนดอัตรารับซื้อ FiT พลังงานหมุนเวียน สำหรับปี 2565-2573 ได้แก่ 1.) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี  2.)พลังงานลม อัตรา 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี 3.) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี  

และ 2. กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จะรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ อัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสัญญา 25 ปี

สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.5 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ

ส่วนสัญญา Partial-Firm คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดรูปแบบการผลิตและรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1.ช่วงเวลา 9.00-16.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณ 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า  2.ช่วงเวลา 18.01-06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับ 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 3. ช่วงเวลา 06.01-09.00 น. และ 16.01-18.00 น. ผลิตไฟฟ้าสั่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

Advertisment