คาดกกพ.เสนอปรับค่าไฟโซลาร์ประชาชนเป็น2บาทต่อหน่วยหรือเปิดทางภาคธุรกิจเข้าร่วม

1738
dav
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเสนอแนวทางให้รัฐมนตรีพลังงานในฐานะประธาน กบง.พิจารณาปรับหลักเกณฑ์โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ให้จูงใจมากขึ้น ตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 11ก.ย.ที่ผ่านมา โดยแหล่งข่าวประเมินแนวทางที่เป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ1.ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าให้สูงกว่า 1.68  บาทต่อหน่วย เป็น 2 บาทต่อหน่วย หรือ​ 2.เปิดทางให้กลุ่มภาคธุรกิจสมัครเข้าร่วมโครงการได้  โดยพร้อมดำเนินการทันที หลังมีความชัดเจนในมติ

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ยังรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) รับทราบแนวทางการปรับรูปแบบโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน(โซลาร์ภาคประชาชน) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อปีในปี​2562

โดยหากภาครัฐต้องการให้ปรับรูปแบบโครงการฯเพื่อสร้างแรงจูงใจมากขึ้น ทาง กกพ.ก็จะรีบติดตามและประเมินผลโครงการให้เร็วขึ้นด้วย จากเดิมที่มีแผนจะดำเนินการในสิ้นปี​ 2562 นี้ ซึ่งแนวทางเบื้องต้น อาจจะต้องไปดูเรื่องของการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 3,000-4,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ หากลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในต้นทุน 2-3 แสนบาท จะสามารถคืนทุนได้เร็วกว่า กลุ่มคนที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณไม่มากนักที่ต้องใช้เวลาคืนทุนถึง 7 ปี

- Advertisment -

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง ก็ต้องไปดูว่า ภาครัฐจะส่งเสริมเรื่องของอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินกลับเข้าระบบในอัตราที่สูงกว่า 1.68 บาทต่อหน่วยได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า ก็จะต้องไปพิจารณาแนวทางอื่นๆเพิ่มเติมต่อไป

“วัตถุประสงค์แรกของโครงการนี้คือ ต้องการส่งเสริมให้ติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ซึ่งตอนนี้คนยังสนใจน้อย ยื่นติดตั้งไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ ต่ำกว่า เป้าหมายมาก และก็ยังไม่มีข้อมูลว่า คนที่ยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มคนที่ใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงหรือไม่ จึงต้องไปดูเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ตรงจุดด้วย” นายเสมอใจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับรูปแบบโครงการเร็วขึ้น หรือ ดำเนินการทันทีในปี 2562 นี้ ทาง กกพ. ยืนยันว่า จะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรกด้วย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการของรัฐที่เท่าเทียมกัน

แหล่งข่าวจาก​ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (สำนักงานกกพ.) กล่าวว่า​ กระทรวงพลังงานได้หารือเบื้องต้นกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)  ถึงแนวทางการปรับหลักเกณฑ์โครงการโซลาร์ภาคประชาชนแล้ว  โดยหากกระทรวงพลังงานออกเป็นนโยบายอย่างชัดเจน​ทาง​ กกพ.ก็พร้อมนำเสนอแนวทางใหม่สำหรับโครงการดังกล่าว

เบื้องต้นมี2​ แนวทาง​ ได้แก่1.การเปิดให้กลุ่มธุรกิจเข้าร่วมโครงการได้เช่นเดียวกับกลุ่มครัวเรือน​ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนถึงเป้าหมาย​100​ เมกะวัตต์ต่อปีได้เร็ว​ขึ้น เพราะกลุ่มธุรกิจมีความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งวัน​ แตกต่างจากภาคครัวเรือนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน​ จึงคิดว่าไม่คุ้มค่าต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

2.​การปรับราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดรับซื้อไว้​ที่ 1.68  บาทต่อหน่วย​ เพื่อจูงใจภาคครัวเรือนให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น​ เช่น​ ปรับขึ้นเป็น 2​ บาทต่อหน่วย​ แต่ราคาที่ซื้อเกิน​ 1.68  บาทต่อหน่วยอาจจะส่งผลให้เกิดภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม​ กกพ.อาจจะนำเสนอทั้ง2แนวทางให้กระทรวงพลังงานพิจารณา​ แต่คาดว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะนำไปใช้สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน​ ปี​ 2563  แทน​ ส่วนโครงการในปี​2562​ นี้​ หากประชาชนสมัครไม่ถึง​100​ เมกะวัตต์​ อาจนำปริมาณที่เหลือไปรวมกับโครงการในปี​ 2563  แทนต่อไป​

สำหรับโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” กกพ.เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ประเภทครัวเรือนขนาดเล็ก(ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่1) ได้ติดตั้งอุปกรณ์แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท๊อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ ไปขายต่อให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดยมีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี ซึ่งโครงการในปี2562 จะกระจายครอบคลุมประมาณ 10,000-20,000 ครัวเรือน

ทั้งนี้ โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ในปี 2562 ที่กำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 30 เมกะวัตต์ ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 70 เมกะวัตต์ ครอบคลุม 74 จังหวัดที่เหลือ ปัจจุบันมีการสมัครเข้าร่วมโครงการจริงประมาณ 20 เมกะวัตต์เท่านั้น

Advertisment